คลังเก็บ

อาการเมื่อปฏิบัติผิด

อาการเมื่อปฏิบัติผิด

โยคีบางท่านกำหนดใจซ้อนกันก็มี ส่งใจไปกำหนดขวาย่างหนอ ใจหนึ่งก็จะไปดูรูปธรรมอยู่แล้ว อีกใจหนึ่งก็ยังแอบไปดูว่าใจที่เราส่งไปมันถึงหรือเปล่า กลายเป็น๒ อย่างซ้อนกันไปเลย ผลที่สุดปวดสมอง เกิดอาการเครียด ทำอย่างนี้ไม่ได้ อย่าไปทำ มันซ้อนกัน

ถ้าเราจะไปดูรูปธรรมก็ไปดูอาการขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ อาการของรูปธรรมเลย อย่าไปตามนามธรรม คือใจที่เราส่งไปกลัวมันจะไปไม่ถึงบ้าง อย่าไปดูใจที่ตามไปหา ตามไปดูรูปธรรม ไม่เช่นนั้นจะเกิดอาการเครียดขึ้นมา ทีนี้อาการที่โยคีบางท่านเป็นอยู่ เช่น กำหนด ๆ ไปเกิดอาการปวดหลังขึ้นมา เสร็จแล้วก็ขึ้นมาบนหัว มาเวียนหัว อาเจียน สาเหตุที่ให้เกิดอาการอย่างนี้ เหตุใหญ่ ๆ มีอยู่ ๒ อย่าง คือ

๑) โยคีพยายามบังคับใจให้อยู่กับอาการ เช่น ขวาย่างหนอ ใจของเราก็ส่งไปที่เท้าอยู่ อีกส่วนหนึ่งต้องการจะให้ใจมันอยู่ที่เท้า กลัวมันจะฟุ้งออกไปข้างนอก คือไประแวง ตัวหนึ่งอยากให้ใจอยู่ตรงนี้ อีกใจก็ระแวง กลัวใจจะฟุ้งออกไปข้างนอก ทำให้ทำงาน ๒ อย่าง พอมันทำ งาน ๒ อย่าง มันก็เกิดอาการเครียดขึ้นมา เมื่อความเครียดมันไล่ ๆ ขึ้นมาข้างหลัง ทำให้เวียนหัวและอาเจียนได้

๒) เมื่อเรายืนแล้วเราลดสายตาประมาณวาหนึ่ง พอสายตาไปตกตรงไหน โยคีบางท่านไม่เข้าใจจ้องพื้นใหญ่เลย บางทีเห็นเป็นรูปร่างอะไรต่ออะไร ถ้าไปจ้องอย่างนั้นก็จะเกิดอาการเวียนหัวขึ้นมาทันที อย่าไปทำอย่างนั้น เวลากำหนด อย่าไปบังคับใจให้อยู่กับอาการถ้าไปบังคับเขาจะเกิดปฏิกิริยาปวด เวียนหัว อาเจียน ถ้าเป็นอยู่ให้รีบแก้

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ แนวทางการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
โดย พระครูภาวนาสมณวัตร (ประจาก สิริวณฺโณ)

วิธีส่งใจในการกำหนด

วิธีส่งใจในการกำหนด

การกำหนดเป็นหัวใจในการปฏิบัติ ให้ส่งใจไปกำหนดดูอาการความเป็นไปของกาย เวทนา จิต และธรรม ฟังแล้วดูเหมือนง่าย ๆ แต่ว่าเวลาทำจริง ๆ มันไม่ค่อยถึง การส่งใจถ้าไม่ถึงอาการแล้ว มันก็ไม่สามารถรู้สภาวะนั้นได้ชัด

วิธีการส่งใจอุปมาให้เห็นง่าย ๆ เหมือนอย่างที่เรานั่งอยู่บ้านหรืออยู่ที่วัด นั่งคุยกับเพื่อนเรื่องอะไรต่าง ๆ ไม่เกี่ยวกับกรรมฐาน เกิดมีอะไรตกข้าง ๆ เรา เราไม่สนใจแล้วคู่สนทนา หรือเรื่องราวที่สนทนาอยู่เราก็ไม่สนใจ หันไปเลยว่าอะไรตกมา ส่งใจไปเต็มที่เลย วิธีส่งใจก็คือย่างนี้เอง ในตัวเราจะมีหัว มีตัว มีขา อะไรก็แล้วแต่ เราละทิ้งความสนใจสิ่งเหล่านั้น

ขณะที่เรานั่งอยู่ เราก็มุ่งน้อมใจไปหาอาการของท้องที่พอง-ยุบ ที่ปรากฏอยู่ ส่งใจไปให้แนบอยู่กับอาการจริง ๆ พอเริ่มพองขึ้นมาก็บริกรรมพองหนอ ไม่ต้องสนใจอย่างอื่น เวลาเขาเริ่มยุบก็บริกรรมยุบหนอจนสุดยุบ เวลาเดินจงกรมก็เช่นเดียวกัน คอเราจะมี แขน หรือขาเราจะมีก็ตามเราไม่ใส่ใจ ให้เราส่งใจไปดูอาการของเท้าที่กำลังยกขึ้น ที่กำลังเคลื่อนไป ที่กำลังเหยียบลงอย่างนี้ ส่งใจไปแนบอยู่กับอาการนั้น

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ แนวทางการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
โดย พระครูภาวนาสมณวัตร (ประจาก สิริวณฺโณ)

การปฏิบัติ อย่าไปปรารถนา อย่าไปอยาก

การปฏิบัติ อย่าไปปรารถนา อย่าไปอยาก พยายามตั้งใจกำหนด โดยไม่หวังว่าจะได้อะไร

สิ่งที่เราควรจะทำให้ดีที่สุด คือ ทำกุศลให้เกิดขึ้น กุศลตัวนี้เขาจะแปรสภาพของเขาเอง ต่อไปเราไม่ต้องไปมัวกังวลว่ารู้อะไร หรือไม่เห็นอะไร พยายามต้อยติดกับปัจจุบันอารมณ์ที่จะเป็นอยู่ ให้ตามติดตัวนั้นให้ได้ เราเกิดเวลายกเท้าขึ้นมาก็ตามดู ขวาย่างหนอ ให้มันแนบไปเลย เห็นตัวนี้สำคัญที่สุด ตัวอื่นเห็นไม่เห็นไม่สำคัญ เวทนาเกิดขึ้นมา กำหนดปวดหนอ ๆ ดูอาการของเวทนาให้เห็น เอาใจเห็น ไม่ใช่เอาตาเห็น เข้าไปดูปัจจุบันตัวนี้ กำหนดไป ๆ ทุกขณะที่เรากำหนดปวดหนอ ๆ หรือว่าขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ยกหนอ ๆ คู้หนอ เหยียดหนอ เห็นหนอได้ยินหนอ เราทำกุศลให้เกิดขึ้นแล้ว และกุศลชนิดนี้สำคัญที่สุดเลย เพราะจะแปรสภาพให้เป็นวิปัสสนาญาณแต่ละอย่าง ๆ ให้เกิดขึ้นเอง

…………………………………………………….


การที่โยมทำโดยไม่หวังว่าจะเห็นโน่นเห็นนี่ วิปัสสนาญาณก็เกิดขึ้นมาโดยสภาพตามความเป็นจริงของเขา เราต้องทำอย่างนั้น มาตอนนี้เราจะปฏิบัติอย่างไร ต้องตั้งใจตั้งท่ากำหนดอย่างเดียว เวลาเดิน ปัจจุบันอยู่ตรงไหน เวลานั่งปัจจุบันอยู่ตรงไหน เวลานอนปัจจุบันอยู่ตรงไหน เวลาเวทนา ปวดเจ็บ สบายไม่สบายเกิดขึ้น ปัจจุบันอยู่ตรงไหน โยคีต้องพยายามตั้งใจกำหนด ให้ได้ปัจจุบันจริง ๆ สิ่งที่พึงรู้พึงเห็นก็คือตัวปัจจุบันนี้ อย่างอื่นไม่ต้องไปคิด แล้วก็ยังกุศลที่เกิดจาก ภาวนามยกุศล คือกุศลที่เกิดจากการกำหนดให้เกิดขึ้นมาก ๆ อะไรจะได้ ไม่ได้ไม่ต้องไปสนใจ

หลวงพ่ออาสภะท่านเคยอุปมาให้ฟังว่า การทำกรรมฐานของเราเหมือนการตีพิมพ์ดีด เราไปตีป๊อกหนึ่ง เราต้องได้ตัวอักษรมาตัวหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าตีไปหลาย ๆ ป๊อก อักษรหลาย ๆ ตัวเกิดขึ้นมา ก็กลายเป็นรูปศัพท์หลาย ๆ รูปศัพท์กลายเป็นประโยค หลายประโยคกลายเป็นเนื้อเรื่องใหญ่ขึ้นมาเลย เราสามารถรู้อะไรเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา อันนี้เกิดจากการตีหลาย ๆ ป๊อกขึ้นมา

นี้ก็เหมือนกัน เราเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เรากำหนดหนอ ๑ ครั้ง ได้มาแล้ว หนอจากการเดิน หนอจากการนั่ง หนอจากเวทนา หนอจากจิต หนอจากการกำหนดธรรมอย่างนี้ เวียนไปจากตื่นนอนจนถึงหลับ พอเรากำหนดได้อย่างนี้ มันสั่งสมแล้ว กุศลมันเกิดมากเข้า ๆ พอมันรวมตัวกันได้เมื่อไร ก็เป็นปัจจัยให้วิปัสสนาญาณเกิด ทำให้เรารู้ เราเข้าใจตัวเองตามความเป็นจริง ว่าเป็นอย่างนี้เอง

เพราะฉะนั้น โยคีอย่าใจร้อน ที่เคยเห็น เคยได้ยิน เคยรู้มา ตัดทิ้งไปหมดอย่าไปสนใจ เอาใหม่ ตั้งสติใหม่เพราะของใหม่ถ้าเราสะสมขึ้นมามากแล้ว ของเก่าเขาจะมารวมตัว เป็นเครื่องผลักดันเครื่องอุปการะให้อีกทีหนึ่ง ก็จะได้ไวขึ้น

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ แนวทางการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
โดย พระครูภาวนาสมณวัตร (ประจาก สิริวณฺโณ)

 

การกำหนดในการนั่ง [หลักการกำหนด “นั่งหนอ ถูกหนอ”]

การกำหนดในการนั่ง
หลักการกำหนด “นั่งหนอ ถูกหนอ”

๑. ใช้ “นั่งหนอ” “ถูกหนอ” กรณี “พองยุบ” หายไป

“พองหนอ-ยุบหนอ” กำหนดไปแล้วมันหายวับไป พอง-ยุบ ไม่มี ถ้ากำหนดหายหนอ ๆ มันไม่มีสภาวะ ตัวมันดับไปแล้ว จะเอาหายตรงไหนเป็นตัวอารมณ์ได้ อันนั้นไม่ต้องดูเลย โบราณาจารย์ท่านบอกว่า เวลา “พอง-ยุบมันหายไป” อย่าเอามือไปคลำ ไม่ต้องไปค้นหา ไม่ต้องไปรอ ทิ้งไปเลย แล้วให้ไปดู “อาการนั่ง” กับ “อาการถูก” ที่เรานั่งสัมผัสอยู่กับพื้นแทน โดยกำหนดว่า “นั่งหนอ” “ถูกหนอ” ให้เอาตัวนั่งกับตัวถูกเป็นตัวแทน “ในช่วงที่พองยุบหายไป

“การกำหนดถูกหนอ” สมมติสะโพกเรา 2 ข้างนี่ ถ้าเราเอาลอย ๆ ไว้อย่างนี้ ไม่สัมผัสกับพื้น เราจะรู้สิ่งข้างล่างที่เราจะสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ว่าเป็นอย่างไรไม่ได้ มันจะต้องถูกหรือสัมผัสก่อน พอถูกปุ๊บ เรียกได้ 3 อย่าง เรียกว่าถูกก็ได้ เรียกว่ากระทบก็ได้ เรียกว่าสัมผัสก็ได้ เหมือนกันเลย พอถูกแล้วความรู้สึกเกิดเขา เช่นถ้าไปสัมผัสกับสิ่งที่แข็ง ก็รู้ว่าแข็ง ถ้าไปสัมผัสกับสิ่งที่อ่อน ก็รู้ว่าอ่อน ถ้าไปสัมผัสกับสิ่งที่ร้อน ก็รู้ว่าร้อน ถ้าไปสัมผัสกับสิ่งที่เย็น ก็รู้ว่าเย็น ถ้าสัมผัสสิ่งที่หย่อนตึงก็รู้ เป็นสัมผัสทางกาย เราสามารถรู้ได้ทางกาย สัมผัสแล้วรู้ในการสัมผัสตามอาการ แต่ถ้าไม่ถูกก็รู้ไม่ได้

อย่างที่เรานั่งสะโพกเราถูกหรือยัง ถูกแล้วความรู้สึกเกิด สมมติว่าเรานั่งอยู่ ความรู้สึกร้อนปรากฏ มันจะมีจุดที่ชัดเด่นอยู่ เรารู้สึก ตรงไหนเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตรงไหนชัด เราหมายตาตรงนั้น สะโพกข้างขวาตรงไหนรู้สึกชัดดี เย็น ๆ ร้อน ๆ อ่อน แข็ง เราก็หมายใจไว้ตรงนี้

เวลาเรานั่งกำหนด “นั่งหนอ” ดูอาการนั่งแวบหนึ่ง แล้วกำหนด “ถูกหนอ” ส่งใจไปสะโพกขวาที่มันสัมผัส รู้สึกเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตรงไหนที่ชัด เราก็ส่งใจไปตรงนั้น กำหนด “นั่งหนอ” ดูนั่งอีกที แล้วก็ “ถูกหนอ” ส่งใจไปสะโพกซ้ายคู่กัน “นั่งหนอ ถูกหนอ” “นั่งหนอ” ถูกหนอ 2 แห่ง คู่กัน

นั่งหนอ ถูกหนอ มีวิธีใช้แทนพอง-ยุบที่หายไป หายไปด้วยเหตุอะไรก็ตาม ด้วยอำนาจของสมาธิก็ตาม ด้วยอำนาจของญาณก็ตาม เราก็มาดู “นั่งหนอ ถูกหนอ” แทน อย่าไปคอยพอง-ยุบ ปล่อยไปเลย ภายหลังรู้สึกว่าพอง-ยุบมาเมื่อไร เราก็ทิ้งนั่งหนอ ถูกหนอ มากำหนดพองหนอ-ยุบหนอต่อ กำหนดไปเรื่อย ๆ ถ้าพอง-ยุบไม่มาก็ไม่ต้องไปกังวล ดูนั่งหนอ ถูกหนอต่อไป

๒. ใช้ “นั่งหนอ” “ถูกหนอ” กับผู้ที่ทำอาณาปานสติมาก่อน

ถ้าเราเจริญอานาปนสติมาก่อน หมายความว่า “เจริญพุทโธ” มาก่อน แล้วติดอยู่ใน “พุทโธ” ถ้าเรามากำหนด “พองหนอ ยุบหนอ” มันจะตีกับลมหายใจ มันจะขึ้น ๆ ลง ๆ ใจมันไม่เป็นสมาธิ เพราะตามกำหนดถึง 2 อย่าง ตามลมหายใจเข้าไปด้วย ดูอาการพองด้วย ตามลมหายใจออก ดูอาการยุบด้วย มันจะตีกัน ให้ทิ้ง “พอง-ยุบ” ให้ดูอาการนั่ง กับอาการถูกแทนไปก่อน หลาย ๆ วันเข้า เมื่อดู พองหนอ ยุบหนอ ถ้ามันไม่ไล่เข้าไปหากัน เราก็มากำหนดพองหนอ ยุบหนอ แต่ถ้ายังขึ้น ๆ ลง ๆ กับลมหายใจอยู่ให้ทิ้งไปเลย ไม่ต้องไปกำหนดเดี๋ยวมันเสียเวลา

๓. ใช้ “นั่งหนอ” “ถูกหนอ” กับพองยุบ ที่ทิ้งช่วง

พอง-ยุบที่ทิ้งช่วง หมายความว่า “พองหนอ ยุบหนอแล้ว” มันไม่ยอมพองมันจะทิ้งช่วงไว้หน่อยหนึ่ง ตอนนี้เราจะต้องเติม “นั่งหนอ” ลงไป จึงจะพองขึ้นมาพอดี อันนี้มันเป็นความละเอียดในการเจริญกรรมฐาน ถึงเวลานั้นจะรู้เอง แล้วถ้าพองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ลงไปแล้วมันก็ยังไม่ขึ้นมาอีก ก็กำหนด “พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ” อย่างนี้เขาจะพองขึ้นมาพอดี ได้จังหวะ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ แนวทางการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
โดย พระครูภาวนาสมณวัตร (ประจาก สิริวณฺโณ)

การกำหนดในการนั่ง [หลักการกำหนด “พอง ยุบ”]

การกำหนดในการนั่ง
หลักการกำหนด “พอง ยุบ”

๑. ดูอาการของท้องพองกับยุบเป็นหลัก
การนั่งให้ดูอาการของท้องพองกับท้องยุบเป็นหลักบริกรรม “พองหนอ ยุบหนอ” อย่าไปเบ่ง อย่าไปตามลมหายใจ ไม่ให้สูดหายใจเข้า แล้วให้มันพอง ปล่อยลมหายใจออกให้มันแฟบลงไปไม่ให้ทำ ให้ปล่อยอย่างธรรมดา ถ้าเขาเริ่มพองขึ้นมา เราก็บริกรรม “พองหนอ” ยุบลงไปก็บริกรรม “ยุบหนอ” อันนี้หมายความว่าเรา อย่าไปตามลมหายใจเข้าไป

ลมหายใจเข้าเป็นเหตุให้ท้องพอง เวลาหายใจออกท้องยุบ หายใจเข้าเป็นเหตุ อาการพองเป็นผล หายใจออกเป็นเหตุ อาการยุบเป็นผล ตอนนี้เรามาดูตัวผล ไม่ใช่ดูตัวเหตุ เหมือนเราไปดูเขาเป่าลูกโป่งที่มันพองออก พองออก เวลาเขาปล่อยลม ลูกโป่งมันแฟบลง ๆ ยุบลง ๆ เราไปดูอาการของอาการพอง กับอาการยุบ เท่านั้น

**ลมหายใจเข้าเป็นปัจจัยให้พอง ลมหายใจออกเป็นปัจจัยให้ยุบ ไม่ต้องสนใจ ทิ้งไปเลย ให้ส่งใจไปดูอาการเริ่มขึ้นมาก็พอง พองหนอ มันยุบลงไปก็ยุบหนอ ตามอาการ อย่าไปเบ่ง เพราะจะเหนื่อยแย่**

๒. อาการพองยาว-ยุบยาว
ถ้าสมมติว่าอาการพองยาว-ยุบยาว ถ้าลมหายใจเราเข้ายาว ๆ อาการพองมันจะพองยาว ลมหายใจออกยาวมันก็ยุบยาวอย่างนี้ เราเรียกว่า “พองยาว-ยุบยาว” เราใส่หนอได้ถ้ามันพอง ให้กำหนดว่า “พองหนอ” ถ้ามันยุบ ก็ให้กำหนดว่า “ยุบหนอ”

๓. อาการพองสั้น-ยุบสั้น
ถ้าเกิดอาการที่เราหายใจสั้น ๆ พองยุบมันก็สั้นตาม มันจะมีอาการพอง-ยุบ พอง-ยุบ มันไว เราจะไปใส่หนอไม่ได้ บางคนไม่เข้าใจจะใส่หนอให้ได้ เหนื่อยแย่เลย ให้กำหนดว่า “พอง-ยุบ” “พอง-ยุบ” ก็พอ ไม่ต้องใส่หนอ

๔. อาการพอง-ยุบ ไวๆ
ถ้ามันไวกว่านั้น มันเกิดผับ ๆ ๆ ๆ เราจะกำหนดว่า พอง-ยุบพอง-ยุบ ไว ๆ ไม่ได้ ต้องกำหนดว่า “รู้หนอ” “รู้หนอ” คือรู้ไปตามอาการที่เขาเป็นอย่างนั้น อย่าไปเร่ง และอย่าไปกำหนดรู้หนอ ๆ ๆ ๆ ๆ ไว ๆ “ไม่ใช่เขาเขาไวผับ ๆ ๆ ๆ รู้หนอ ๆ ๆ ๆรัวไปตามเขาไม่ได้” ห้ามไปทำอย่างนั้น เดี๋ยวเหนื่อยแย่

๐ พองยาว-ยุบยาว กำหนดว่า “พองหนอ-ยุบหนอ”
๐ พองสั้น-ยุบสั้น กำหนดว่า “พอง-ยุบ” “พอง-ยุบ”
๐ พองไว-ยุบไว กำหนดว่า “รู้หนอ” “รู้หนอ”

๕. อาการตีแน่นขึ้นหน้าอก
สมมติว่ายุบ ๆ ๆ ๆ ไป เกิดตีแน่นขึ้นมาแน่นอก จะกำหนดว่าแน่นหนอแน่นหนอไม่ได้ ถ้ากำหนดแน่นหนอ ๆ ๆ มันจะหายใจไม่ออก เขาจะมีเทคนิคพิเศษ “ถ้ามันแน่นขึ้นมา” ให้กำหนดว่า “รู้หนอ รู้หนอ” ประเดี๋ยวเขาจะคลายไปเอง

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ แนวทางการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
โดย พระครูภาวนาสมณวัตร (ประจาก สิริวณฺโณ)

การกำหนดดูรู้ตาม

การกำหนดดูรู้ตาม

งานทางโลกกับงานทางธรรมชื่อว่างานเหมือนกันแต่วิธีการทำต่างกัน งานทางโลกเป็นไปเพื่อหาข้าวกิน หาสมบัติใช้ แต่งานทางธรรมเป็นไปเพื่อรู้แจ้งแห่งพระสัจธรรม

๐ มาพูดถึงตัวงานตัวการในทางธรรมก็คือ กายกับใจ หรือรูปกับนาม

๐ ผู้ที่เข้าไปทำงานก็คือ ใจ

๐ ทำโดยวิธีไหน? โดยการกำหนดดูรู้ตาม ทั้งสภาพที่เป็นไปของรูป นาม

๐ กำหนดดูรู้ตามอย่างไร? กำหนดดูรู้ตามอย่างที่เขาเป็น ไม่ใช่กำหนดเพื่อจะให้เขาเป็น

อุปมา อุปมัย….เหมือนเราไปดูหนาม..หนามมันแหลมอยู่แล้วเราจำเป็นต้องเอามีดไปเหลาไหม? ยกตัวอย่าง เวลาเราดูพอง ยุบ ถ้าพอง ยุบ ไม่ชัดเราจำเป็นต้องตะเบ็งให้ชัดไหม? เพราะอะไร? เพราะดูอย่างที่เขาเป็นไง เขาปรากฏเบาก็รู้ไปตามเบาๆๆ แต่ถ้าไม่ชัดก็ไปดูตัวอื่น นั่งหนอ ถูกหนอ ก็ยังมี

เพราะธรรมทั้งหลายองค์สมเด็จพ่อทรงตรัสไว้ว่าแม้พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นมาไม่อุบัติขึ้นมาเขาก็มีอยู่เป็นประจำแต่เมื่อตรัสรู้แล้วก็เห็นตามความเป็นจริงในธัมมนิยามสูตร ว่า

อุปปาทา วา ภิกขะเว ตะถาคะตานัง อะนุปปาทา วา ตะถาคะตานัง ฐิตา วะ สา ธาตุ ธัมมัฏฐิตะตา ธัมมะนิยามะตา สัพเพ สังขารา อะนิจจาติฯ ตัง ตะถาคะโต อะภิสัมพุชฌะติ อะภิสะเมติ อะภิสัมพุชฌิตวา อะภิสะเมตวา อาจิกขะติ เทเสติปัญญะเปติ ปัฏฐะเปติ วิวะระติ วิภะชะติ อุตตานีกะโรติ สัพเพ สังขารา อะนิจจาติฯ สัพเพ สังขารา ทุกขาติฯ สัพเพ ธัมมา อะนัตตาติฯ

ภิกษุ ทั้งหลาย ทั้งที่พระตถาคต คือ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จักเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ธาตุคือสิ่งทรงตัวเองอยู่ได้อันนั้น ดำรงอยู่ได้โดยธรรมดาของมันอย่างนั้น สิ่งที่ถูกกำหนดมาตามธรรมดาของมันว่า จะเป็นอย่างนั้น พระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นตถาคต ตรัสรู้ธาตุนั้น ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาอันยิ่ง เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อนว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวง ไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา

ครั้นได้ตรัสรู้แล้ว ได้หยั่งรู้แล้ว จึงนำมาบอกกล่าว นำมาแสดง บัญญัติตั้งไว้ เปิดเผยให้ทราบ จำแนกแยกแยะ ทำให้เข้าใจง่ายว่า “สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา”

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
พระครูภาวนาสมณวัตร (ประจาก สิริวณฺโณ)

ใจของเราคุ้นกับการไป ไม่คุ้นกับการอยู่

ใจของเราคุ้นกับการไป ไม่คุ้นกับการอยู่

โยคีต้องจำไว้ว่า ปกติใจของเราคุ้นกับการไป ไม่คุ้นกับการอยู่ ฉะนั้นวันแรก 2 วัน ใจจะต้องดิ้นรนมาก เมื่อมันดิ้นรนเราก็ไม่ต้องกลัว มันเป็นสภาวะหนึ่ง เป็นธรรมดาของใจเรา เพราะว่าเราปล่อยเขามามาก จู่ๆ เราจะมากักขังเขาให้อยู่ เขาจะไม่อยู่อย่างที่เราตั้งใจ เพราะกำลังสติ สมาธิของเรามันน้อย เมื่อน้อยอยู่เอาเขาไม่อยู่ แต่ไม่ต้องหงุดหงิด ไม่ต้องหิ้วกระเป๋า กลับบ้าน ไม่ต้องเอาญาณม้วนเสื่อกลับบ้าน

จะบอกล่วงหน้าให้รู้ไว้ก่อนว่า ถ้าเข้าวันที่ 3 ไปแล้วมันจะดี วันที่ 1 วันที่ 2 จะเป็นนักปฏิบัติเก่า นักปฏิบัติใหม่ก็แล้วแต่ 2 วันนี่จะเป็นวันที่ใจเราจะดิ้นรนกระวนกระวายมาก บอกให้รู้ก่อน เพราะใจมันคุ้นกับการไป ไม่คุ้นกับการอยู่

ปกติในชีวิตประจำวันเราจะปล่อยใช่ไหม เห็นก็ปล่อยไปเต็มที่ ได้ยินปล่อยไปเต็มที่ ได้กลิ่นลิ้มรส ถูกต้องคิดนึกอะไร เราปล่อยไปเต็มที่ ไม่เคยกันเขา แต่มาตอนนี้เราจะกันเขา เขาจะอยู่ง่ายๆ ไหม อย่างที่เคยอุปมาเหมือนคนที่เคยเที่ยวกลางคืน เพราะว่าไปทำงานอะไรเสร็จ กลับมาบ้านก็รีบอาบน้ำแต่งตัวเสร็จ มีรถจักรยานก็ปั่นจักรยานไป มีรถเครื่องก็เอารถเครื่องไป มีรถ 4 ล้อ 2 ล้ออะไรก็ว่ากันไป เขาก็ออกไปทุกวันๆ ทีนี้คนๆ นี้เราจะให้เขาอยู่บ้านสักวันหนึ่ง เขาสบายใจไหม ใจมันไม่อยู่ เราถามว่าบ้านนี้ไม่ใช่บ้านเขาหรือ ก็ใช่ ห้องนอนก็มี เครื่องบริการความสะดวกมีทุกอย่าง ห้องแอร์ก็มี อะไรก็มีพร้อมทุกอย่าง อาหารการกินมีพร้อมทุกอย่าง แต่เขาไม่อยากอยู่ ถามว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น เพราะเขาคุ้นกับการไป เขาไม่ค่อยอยู่บ้าน นิสัยของเขา เขาฝึกอย่างนั้นไปทุกวันๆ แต่ถ้าจะให้เขาอยู่บ้านสักวัน เขาจะอึดอัด ดิ้นรน กระวนกระวาย อยู่ไม่เป็น

ใจของเราก็เหมือนกัน เราปล่อยออกทุกวัน เห็นก็ปล่อย ได้ยินก็ปล่อย ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องคิดนึกอะไรๆ เราก็ปล่อยเต็มที่ แล้วจู่ๆ เราจะให้เขามาอยู่อย่างนี้ เขาไม่ได้อิสระ พอเราจะให้เขาอยู่ เขาจะอยู่เหมือนใจเราไหม เขาจะต้องดิ้นรน ให้จำตัวนี้ไว้

ฉะนั้น 2 วันนี่ อย่าไปบ่น ห้ามบ่น ถ้าเราจะบ่นๆ ที่เราปล่อยเมื่อก่อนเราปล่อยไม่เห็นบ่น ดูก็ดูเต็มที่ เพลินไปเลย ถ้าเราจะบ่นต้องบ่นตอนนั้น ตอนปล่อยเราไม่บ่น ตอนที่เขาไม่อยู่เราจะไปบ่นถูกหรือเปล่า

ฉะนั้นช่วงนี้ไม่ต้องไปคิดอื่น ให้กำหนดอย่างเดียว เพราะเราจะได้รักษาตัวของเราได้ถูกว่าต่อไปนี้เรามาตรงนี้ เรามาเพื่อจะเอาใจใส่ ดูแลตัวเอง เพราะเราสนใจคนอื่นมามาก เรารักตัวเอง แต่เราไม่ได้สนใจตัวเอง เราตกเป็นทาสมามาก เราไม่ได้อิสระ ความเป็นไท เราปล่อยให้ใจของเราเป็นทาสของสิ่งอื่นที่นอกจากตัวเราเป็นมานาน แล้ววันนี้เราจะประกาศอิสรภาพ แค่ 10 วัน ไม่เอามาก ถ้าออกไปหลังจากนี้ก็เป็นทาสเหมือนเดิม ความเป็นทาสไม่ต้องขอร้อง

ฉะนั้นตอนนี้ 10 วัน ก็ขอให้ทุ่มจิตทุ่มใจให้เต็มที่หน่อย เขาจะดิ้นรนอย่างไร เราก็ต้องอดทน อย่าไปกลัวตามเขา ไม่ต้องไปดิ้นรน กระวนกระวายกับเขา

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐ 
จากหนังสือแนวทางการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
โดย.. พระครูภาวนาสมณวัตร (ประจาก สิริวณฺโณ)

การสร้างพระพุทธรูป

การสร้างพระพุทธรูป

พระพุทธรูปนี้ไม่ว่าจะอยู่ที่ในวิหาร อยู่ในโบสถ์ อยู่ในศาลา ในสถานที่สำคัญต่างๆ ใครที่เป็นพุทธศาสนิกชนจะเป็นมนุษย์ก็ดี จะเป็นเทพก็ดี เมื่อได้พบเห็นแล้วก็จะไปกราบไปไหว้ด้วยความสนิทใจ แล้วก็น้อมอาศัยพระพุทธรูปเป็นเครื่องน้อมระลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เรามาติดแค่พระพุทธรูปตรงนี้ เราเห็นท่านเราก็น้อมเอาองค์ท่านเป็นตัวแทน แล้วก็น้อมถึงคุณของพระพุทธเจ้า 9 บทใหญ่ๆ มีอรหังคุณ เป็นต้น มีอรหังสัมมาสัมพุทโธ ที่เราสวดอิติปิโส เราอาศัยพระพุทธรูปเป็นสื่อให้น้อมถึงคุณของพระพุทธเจ้าที่มีต่อเนไวยสัตว์ทั้งหลาย ดังนั้นพระพุทธรูปชื่อว่าเป็นศูนย์รวมใจของเราศาสนิกชนทั้งหลาย มีพระพุทธรูปแล้วเราได้กราบไหว้บูชา โดยสนิทใจ

การสร้างพระพุทธรูปในศาลาการปฏิบัติธรรม เหมือนหนึ่งองค์สมเด็จพ่อได้ประดิษฐานได้ปรากฏเป็นองค์ให้เราเห็นได้กราบ ได้ไหว้ ได้สักการะบูชา ได้น้อมระลึกถึงคุณของท่าน ก็จะเกิดปิติปราโมทย์ บางทีอาศัยพุทธคุณเกิดปิติปราโมทย์แล้วเราน้อมพิจารณาปิติปราโมทย์ โดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็สามารถทำให้ผู้กราบระลึกนี้ ยังอริยมรรค อริยผลตั้งแต่โสดาเป็นต้นจนถึงอรหันมรรคเป็นที่สุดนี่ก็เกิดขึ้นได้

ดังนั้นขอให้ท่านสาธุชนทั้งหลายที่มาร่วมทำกุศลในครั้งนี้ จงได้เกิดความปลื้มอกปลื้มใจ ว่าเราได้สร้างองค์สมเด็จพ่อ รูปแทนขององค์สมเด็จพ่อ ประดิษฐานให้เป็นที่กราบไหว้บูชาของเทพเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายตลอดไป เราดูแล้วเราจะได้มีความปลื้มปิติอยู่เป็นประจำ

จากธรรมบรรยาย พระครูปลัดประจาก สิริวณฺโณ ในโอกาสสร้างพระพุทธรูปประจำศาลาตาณัง เลณัง

จิตของเราเหมือนวัวตัวน้อย

จิตเราเหมือนวัวตัวน้อย

จิตเราเหมือนวัวตัวน้อย ปกติมันจะดื่มนมของแม่อยู่เป็นประจำ มันคลอเคลียไม่ยอมจากแม่มันไปไหน ทีนี้มันดูดนมของแม่มันเป็นประจำบุคคลที่ต้องการนมโค ต้องทำอย่างไร ก็ต้องเอาวัวตัวเล็กไปผูกกับหลักไว้ ทีนี้วัวตัวนี้มันเคยวิ่งไปวิ่งมา มันอยู่ใกล้แม่ เราเอาห่างจากแม่ มันก็ดิ้นรนทุรนทุราย วิ่งทะยานไปทางโน้นที เสร็จแล้วพอสุดเชือกมันก็กลับมา วิ่งไปวิ่งมาอยู่อย่างนี้เป็นประจำ จนผลที่สุดมันอ่อนตัวลงมันก็มานอนอยู่ตรงหลักนั่น

อุปมานี้ฉันใด ท่านก็บอกว่าปกติใจของคนเราก็เป็นอย่างนั้น ปกติมันวิ่งออกไปทางโน้นที ออกไปทางตาที ทางหูที ทางจมูกที ทางลิ้นทีทางกายที ทางใจที มันวิ่งไปวิ่งมารอบสารทิศ ทุกทิศเลย ใจมันคิดของมันไป เราจะทำใจที่พยศ ใจที่มันไม่อยู่กับหลักกับร่องกับรอย ให้มันอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง

องค์สมเด็จพ่อบอกว่าเราต้องอาศัยหลักในที่นี้ก็คือ “สติปัฏฐาน เชือกนี่เหมือนหนึ่ง “สติ” โคเหมือนกับ จิต” เอาเชือกเหมือนสติผูกจิตไว้ พอผูกจิตไว้ จิตมันทะยานวิ่งไปทางโน้นที คิดไปทางโน้นที เราก็กำหนดมันก็มานอนอยู่ที่ “สติปัฏฐาน” ดึงมันไป ผูกมันกับหลักกายบ้าง ผูกหลักเวทนาบ้าง ผูกหลักจิตบ้าง ผูกหลักธรรมบ้าง คอยพยายามตะล่อมๆ ให้มันอยู่ ภายในหลัก 4 หลักนี่แหละ

จากหนังสือ แนวทางการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน พระครูปลัดประจาก สิริวณฺโณ

<><><><><><><><><><><>><><><>

ข้อความจากอรรถกถาสโตการิญาณนิเทศ
(ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค)

จิตของภิกษุนั้นคุ้นในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นตลอดกาลนาน ไม่ปรารถนาจะพอกพูนอารมณ์อันเป็นอานาปานสติสมาธิ จิตย่อมแล่นไปนอกทางทีเดียว ดุจรถเทียมด้วยโคโกง เพราะฉะนั้น เปรียบเหมือนคนเลี้ยงโค ประสงค์จะฝึกลูกโคโกงที่ดื่มน้ำนมทั้งหมดของแม่โคนมโกงให้เจริญ จึงนำออกจากแม่โคนม ฝังเสาใหญ่ไว้ข้างหนึ่ง เอาเชือกผูกไว้ที่เสานั้น ทีนั้นลูกโคของเขาไม่อาจดิ้นจากที่นั้นๆ หนีไปได้ จึงหมอบนอนนิ่งอยู่กับเสานั้นเอง ฉันใด

แม้ภิกษุนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ประสงค์จะฝึกจิตที่ประทุษร้ายให้เจริญ ด้วยการดื่มรสมีรูปารมณ์เป็นต้นตลอดกาลนาน จึงนำออกจากอารมณ์มีรูปเป็นต้น แล้วเข้าไปยังป่าก็ดี โคนไม้ก็ดี เรือนว่างก็ดี ผูกด้วยเชือกคือสติ ที่เสาคือลมอัสสาสะและปัสสาสะนั้น จิตของภิกษุนั้นแม้ดิ้นรนไปข้างโน้นข้างนี้ เมื่อไม่ได้อารมณ์ที่สะสมไว้ในกาลก่อน ก็ไม่สามารถจะตัดเชือกคือสติหนีไปได้ จึงนั่งสงบ นอนนิ่งอยู่กับอารมณ์นั้นนั่นเอง ด้วยสามารถแห่งอุปจารและอัปปนา.

ด้วยเหตุนั้น ท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

นรชนพึงผูกลูกโคที่ควรฝึกไว้ที่เสานี้ ฉันใด
ภิกษุพึงผูกจิตของตนไว้ในอารมณ์ ด้วยสติ ให้มั่นคง ฉันนั้น.

<><><><><><><><><><><>><><><><><><><><>

อัปปมาทธรรม : ความไม่ประมาท

“อัปปมาทธรรม” สรุปย่อ : จากธรรมบรรยาย หลวงพ่อประจาก

คำว่า “ไม่ประมาท” หรือ “อัปปมาทะ” เป็นชื่อของสติ “อัปปมาทธรรม” เป็นธรรมที่มีความสำคัญมากที่สุด แม้แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาท่านจะปรินิพพาน ท่านตักเตือนภิกษุทั้งหลาย ที่มาประชุมเป็นครั้งสุดท้าย เรียกว่า “ปัจฉิมโอวาท” หลังจากตรัสปัจฉิมโอวาทแล้ว ต่อไปท่านไม่ตรัสอะไรเลย เข้าญาณออกญาณ แล้วในที่สุดก็ปรินิพพาน

ในปัจฉิมโอวาทพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า
“ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา พวกเธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม”

ทรงตรัสไว้ที่เมืองกุสินารา ใครเคยไปเที่ยวอินเดียสถานที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานที่เมืองกุสินารา เราได้ธรรมสังเวชจากที่นั่น ดูว่าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่จะหาผู้ที่เปรียบปานไม่ได้ ไม่ว่าด้านทิศไหนได้อย่างไร ท่านก็ต้องตกอยู่ในสภาพ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในชาติสุดท้ายท่านปรินิพพานไปแล้วก็ไม่ต้องเกิด

แต่เมื่อมีสังขารธรรม มีรูปนามอยู่อย่างนี้ คำว่าไม่ตายคือเป็นไปไม่ได้ จะประเสริฐขนาดไหน ก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ในอัตภาพของเรานี้ แต่ตายแล้วจะเกิดอีกไหมเป็นอีกเรื่องนึง องค์สมเด็จพ่อไม่มีแล้ว ปรินิพพานไปแล้ว

ใครยังเห็นว่าพระพุทธเจ้าไปนอน ไปนั่งอยู่บนวิมาน ไม่งั้นท่านจะปรินิพพานเพื่อประโยชน์อะไร ถ้ายังมีขันธ์อยู่ก็ต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เป็นไปไม่ได้นะ ทางศาสนาของเรามีพูดไว้เยอะ บางทีความเห็นผิด เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว อาศัย “สมถนิมิต” ทำให้เกิดความเห็นผิด เห็นพลาดไปจากความเป็นจริง หรืออีกอย่างหนึ่ง ความรู้ทางด้านปริยัติธรรมไม่มั่นคง

ธรรมที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ตลอด 45 พรรษา รวมแล้วลงอยู่ที่ “ความไม่ประมาท”

โอวาทที่องค์สมเด็จพ่อทรงแสดงไว้ ตลอด 45 พรรษา ที่ทรงประทานไว้แก่ภิกษุทั้งหลายและสรรพสัตว์ทั้งหลายนี้ นับด้วยปิฎกได้ 3 ปิฎก พระวินัยปิฎก พระสุตตันตะปิฎก พระอภิธรรมปิฎก นับเป็นนิกายได้ 5 นิกาย ที มะ สัง อัง ขุ เมื่อว่าด้วยองค์ได้ 9 นวังคสัตถุ เมื่อว่าด้วยธรรมขันธ์ ได้ 84000 พระธรรมขันธ์ ธรรมทั้งหมดเหล่านี้ที่ทรงตรัสไว้ตลอด 45 พรรษา องค์สมเด็จพ่อทรงรวบรวมลงในศัพท์บทว่า “อัปปมาทะ” ศัพท์เดียวเท่านั้นเอง ประมวลแล้วลงอยู่ใน “อัปปมาทธรรม” คือความเป็นผู้ไม่ประมาท ซึ่งก็ได้แก่ “สติ” คือ ความเป็นผู้มีสตินั่นเอง

ในสังยุตนิกาย มหาวรรค ใน “ปทสูตร” องค์สมเด็จพ่อท่านอุปมาว่า บรรดารอยเท้าที่สรรพทั้งหลาย ที่สัญจรไปมาในปฐวีนี้ รอยเท้าที่ใหญ่ที่สุดก็คือรอยเท้าช้าง รอยเท้าอื่นๆ ที่จะเหยียบลงไปก็จมอยู่ในรอยเท้าของรอยเท้าช้าง ไม่มีอะไรนอกไปจากรอยเท้าช้าง ดังนั้นธรรมะขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ใน 84000 พระธรรมขันธ์ตลอด 45 พรรษา ย่อลงใน “ความไม่ประมาท” อย่างเดียวเท่านั้นเอง

ดังนั้นตัว “สติ” ที่เรากำลังประพฤติปฏิบัติกันอยู่ กำหนดแต่ละหนอๆ ที่เราสร้างมานี้ อันนี้เป็นจุดศูนย์ใหญ่ เป็นใหญ่กว่าธรรมทั้งปวง เป็นธรรมที่จะทำให้เราเข้าถึงซึ่ง “พระนิพพาน”

อ่านสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค “ปทสูตร” >>> คลิก

จากธรรมบรรยาย เรื่อง มาลุงกยปุตตสูตร (1) ในคอร์สเข้าพรรษาปี 2551