Archive | พฤศจิกายน 2011

สัมมัปปธาน ๔ : ความเพียร ๔

สัมมัปปธาน ๔
สรุปย่อจากสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ๕. สัมมัปปธานสังยุต ว่าด้วยสัมมัปปธาน ๔

สัมมัปปธาน ๔ เป็นไฉน?

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้

๐ เพื่อไม่ให้บาปอกุศลธรรมที่​ยังไม่เกิด เกิดขึ้น ๑
๐ เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิด​ขึ้นแล้ว ๑
๐ เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เ​กิด เกิดขึ้น ๑
๐ เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความมียิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้น​แล้ว ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมัปปธาน ๔ เหล่านี้แล.

O ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคาไหลไปสู่ทิศปราจี​น หลั่งไปสู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน แม้ฉันใด ภิกษุเจริญสัมมัปปธาน ๔ กระทำให้มากซึ่งสัมมัปปธาน ๔ ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน​ โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน.

O ดูกรภิกษุทั้งหลาย การงานที่จะพึงทำด้วยกำลังอ​ย่างใดอย่างหนึ่ง อันบุคคลทำอยู่ การงานที่จะพึงทำด้วยกำลังทั้งหมดนั้น อันบุคคลอาศัยแผ่นดิน ดำรงอยู่บนแผ่นดิน จึงทำได้อย่างนั้น แม้ฉันใด ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญสัมมัปปธาน ๔ กระทำให้มากซึ่งสัมมัปปธาน ๔ ฉันนั้นเหมือนกัน.

O ดูกรภิกษุทั้งหลาย การแสวงหา ๓ อย่างนี้คือ การแสวงหากาม ๑, การแสวงหาภพ ๑, การแสวงหาพรหมจรรย์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมัปปธาน ๔ เหล่านี้ อันภิกษุพึงเจริญ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละการแสวงหา ๓ อย่างนี้แล.

O ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องบ​น ๕ นี้ คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมัปปธาน ๔ อันภิกษุพึงเจริญ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละซึ่งสังโยชน์ อันเป็นส่วนเบื้องบน ๕ เหล่านี้แล

<><><><><><><><><><><><><>​<><><><><>

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม : พระพรหมคุณาภรณ์

ปธาน 4 (ความเพียร – effort; exertion)

 1. สังวรปธาน (เพียรระวังหรือเพียรปิดกั้​น คือ เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธ​รรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น – the effort to prevent; effort to avoid)

2. ปหานปธาน (เพียรละหรือเพียรกำจัด คือ เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิด​ขึ้นแล้ว – the effort to abandon; effort to overcome)

3. ภาวนาปธาน (เพียรเจริญ หรือเพียรก่อให้เกิด คือ เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เก​ิด ให้เกิดมี – the effort to develop)

4. อนุรักขนาปธาน (เพียรรักษา คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่นและให้เจ​ริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์ – the effort to maintain)

ปธาน 4 นี้ เรียกอีกอย่างว่า สัมมัปปธาน 4 (ความเพียรชอบ, ความเพียรใหญ่ – right exertions; great or perfect efforts).

<><><><><><><><><><><><><>​<><><><><>

ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ข้อ ๒๕๑ : ความเพียรอันไม่ย่อหย่อน

*****************************************
เนื้อและเลือดในสรีระจะแห้งเหือดไปหมดสิ้น
จะเหลือแต่หนัง เอ็น และกระดูก ก็ตามที
เรายังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ
จักไม่ทำลายบัลลังก์นี้.
*****************************************

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ข้อ ๒๕๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรารู้ทั่วถึงคุณของธรรม ๒ อย่าง คือ
๐ ความเป็นผู้ไม่สันโดษในกุศลธรรม ๑
๐ ความเป็นผู้ไม่ย่อหย่อนในความเพียร ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า เราเริ่มตั้งความเพียรอันไม่ย่อหย่อนว่า “จะเหลืออยู่แต่หนังเอ็น และกระดูก ก็ตามที เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไปเถิด ยังไม่บรรลุผลที่บุคคลพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักไม่หยุดความเพียรเสีย”

ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพธิญาณอันเรานั้นได้บรรลุแล้วด้วยความไม่ประมาท ธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม อันเรานั้นได้บรรลุแล้วด้วยความไม่ประมาท

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้เธอทั้งหลายจะพึงเริ่มตั้งความเพียรอันไม่ย่อหย่อนว่า “จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็นและกระดูกก็ตามที เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไปเถิด ยังไม่บรรลุผลที่บุคคลพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักไม่หยุดความเพียรเสีย”

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลายก็จักทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตต้องการนั้น ด้วยความรู้ยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ต่อกาลไม่นานเลย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จักเริ่มตั้งความเพียรอันไม่ย่อหย่อนว่า “จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามที เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไปเถิด ยังไม่บรรลุผลที่บุคคลพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักไม่หยุดความเพียรเสีย”

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ