Archive | กรกฎาคม 2015

วัมมิกสูตร : ว่าด้วยปริศนาจอมปลวก

วัมมิกสูตร : ว่าด้วยปริศนาจอมปลวก

กุมารกัสสปะทูลถามปัญหา ๑๕ ข้อ

[๒๙๐] ครั้งนั้นแล ท่านพระกุมารกัสสปะ เมื่อราตรีนั้นล่วงไปแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อคืนนี้ เทวดาองค์หนึ่ง มีวรรณงามยิ่งราตรีล่วงปฐมยามไปแล้ว ยังป่าอันธวันทั้งสิ้นให้สว่างแล้ว เข้าไปหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่ ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กล่าวกะข้าพระองค์ว่า

ดูกรภิกษุ จอมปลวกนี้ พ่นควันในเวลากลางคืน ลุกโพลงในกลางวัน พราหมณ์ได้กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงเอาศาตราขุดดู. สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นลิ่มสลัก จึงเรียนว่า ลิ่มสลัก ขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะเจ้าจงยกลิ่มสลักขึ้น เอาศาตราขุดดู. สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นอึ่ง จึงเรียนว่า อึ่งขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกอึ่งขึ้น เอาศาตราขุดดู. สุเมธะเอาศาตราขุดลงไปได้เห็นทาง ๒ แพร่ง จึงเรียนว่า ทาง ๒ แพร่ง ขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะเจ้าจงก่นทาง ๒ แพร่งเสีย เอาศาตราขุดดู. สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นหม้อกรองน้ำด่างจึงเรียนว่า หม้อกรองน้ำด่าง ขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกหม้อกรองน้ำด่างขึ้น เอาศาตราขุดดู. สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นเต่า จึงเรียนว่า เต่าขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกเต่าขึ้น เอาศาตราขุดดู. สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นเขียงหั่นเนื้อ จึงเรียนว่า เขียงหั่นเนื้อ ขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะเจ้าจงยกเขียงหั่นเนื้อขึ้น เอาศาตราขุดดู. สุเมธะเอาศาตราขุดลงไปได้เห็นชิ้นเนื้อ จึงเรียนว่าชิ้นเนื้อ ขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกชิ้นเนื้อขึ้น เอาศาตราขุดดู.สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นนาค จึงเรียนว่า นาคขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า นาคจงอยู่เถิด เจ้าจงอย่าเบียดเบียนนาคเลย จงทำความนอบน้อมต่อนาค.

ดูกรภิกษุ ท่านพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลถามปัญหา ๑๕ ข้อเหล่านี้แล ท่านพึงทรงจำปัญหาเหล่านั้นตามที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์. ดูกรภิกษุ ข้าพเจ้า ย่อมไม่เห็นบุคคลในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลกพรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ที่จะยังจิตให้ยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้ นอกจากพระตถาคต หรือสาวกของพระตถาคต หรือเพราะฟังจากสำนักนี้. เทวดานั้น ครั้นกล่าวคำนี้แล้วได้หายไปในที่นั้นแล.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแลชื่อว่า จอมปลวก อย่างไรชื่อว่าพ่นควันในกลางคืน อย่างไรชื่อว่าลุกโพลงในกลางวัน อะไรชื่อว่าพราหมณ์ อะไรชื่อว่าสุเมธะ อะไรชื่อว่าศาตรา อย่างไรชื่อว่าการขุด อะไรชื่อว่าลิ่มสลัก อะไรชื่อว่าอึ่ง อะไรชื่อว่าทาง ๒ แพร่ง อะไรชื่อว่า หม้อกรองน้ำด่าง อะไรชื่อว่าเต่า อะไรชื่อว่าเขียงหั่นเนื้อ อะไรชื่อว่าชิ้นเนื้อ อะไรชื่อว่านาค ดังนี้?

พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ปัญหา ๑๕ ข้อ

[๒๙๑] พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า

ดูกรภิกษุ คำว่า จอมปลวกนั่นเป็นชื่อของกายนี้ อันประกอบด้วยมหาภูตรูปทั้ง ๔ ซึ่งมีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญด้วยข้าวสุกและขนมกุมมาส ไม่เที่ยง ต้องอบรม ต้องนวดฟั้น มีอันทำลายและกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา.

ปัญหาข้อว่า อย่างไรชื่อว่าพ่นควันในกลางคืนนั้น ดูกรภิกษุ ได้แก่การที่บุคคลปรารภการงานในกลางวัน แล้วตรึกถึง ตรองถึงในกลางคืน นี้ชื่อว่าพ่นควันในกลางคืน.

ปัญหาข้อว่า อย่างไรชื่อว่าลุกโพลงในกลางวันนั้น ดูกรภิกษุ ได้แก่การที่บุคคลตรึกถึงตรองถึง (การงาน) ในกลางคืน แล้วย่อมประกอบการงานในกลางวัน ด้วยกาย ด้วยวาจา นี้ชื่อว่าลุกโพลงในกลางวัน.

ดูกรภิกษุ คำว่า พราหมณ์นั้น เป็นชื่อของพระตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.

คำว่า สุเมธะ นั้น เป็นชื่อของเสขภิกษุ.

คำว่า ศาตรานั้นเป็นชื่อของปัญญาอันประเสริฐ.

คำว่า จงขุดนั้นเป็นชื่อของการปรารภความเพียร.

คำว่า ลิ่มสลักนั้น เป็นชื่อของอวิชชา.

คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า

พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ ปัญญาเพียงดั่งศาตรา ยกลิ่มสลักขึ้น คือจงละอวิชชาเสีย จงขุดมันขึ้นเสีย.

คำว่า อึ่งนั้น เป็นชื่อแห่งความคับแค้นด้วยสามารถความโกรธ. คำนั้นมีอธิบาย ดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดั่งศาตรา ยกอึ่งขึ้นเสีย คือจงละความคับแค้นด้วยสามารถความโกรธเสีย จงขุดมันเสีย.

คำว่า ทาง ๒ แพร่งนั้น เป็นชื่อแห่งวิจิกิจฉา. คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา ก่นทาง ๒ แพร่งเสีย คือจงละวิจิกิจฉาเสีย จงขุดมัน เสีย

คำว่าหม้อกรองน้ำด่างนั้น เป็นชื่อของนิวรณ์ ๕ คือ กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์. คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา ยกหม้อกรองน้ำด่างขึ้นเสีย คือจงละนิวรณ์ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย.

คำว่าเต่านั้น เป็นชื่อของอุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์. คำนั้นมีอธิบายดังนี้ พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา ยกเต่าขึ้นเสียคือ จงละอุปาทานขันธ์ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย.

คำว่าเขียงหั่นเนื้อนั้น เป็นชื่อของกามคุณ ๕ คือ รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นรูปที่น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เสียงอันจะพึงรู้แจ้งด้วยโสตกลิ่นอันจะพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ … รสอันจะพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา … โผฏฐัพพะอันจะพึงรู้แจ้งด้วยกายน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นรูปที่น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด. คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา ยกเขียงหั่นเนื้อเสีย คือ จงละกามคุณ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย.

คำว่าชิ้นเนื้อนั้น เป็นชื่อของนันทิราคะ. คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา ยกชิ้นเนื้อขึ้นเสีย คือ จงละนันทิราคะ จงขุดขึ้นเสีย

คำว่านาคนั้น เป็นชื่อของภิกษุผู้ขีณาสพ คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า นาคจงหยุดอยู่เถิด เจ้าอย่าเบียดเบียนนาค จงทำความนอบน้อมต่อนาคดังนี้.

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระกุมารกัสสปะมีใจชื่นชม เพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
โอปัมมวรรค
วัมมิกสูตร
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ฟังธรรมบรรยาย วัมมิกสูตร หลวงพ่อประจาก สิริวณฺโณ และ ดาวน์โหลดหนังสือ “วัมมิกสูตร ปริศนาแห่งจอมปลวก” โดย.. พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ)

คลิกที่นี่ >>>> วัมมิกสูตร

 

รู้จักพระไตรปิฎก ให้ชัด ให้ตรง

หนังสือ “รู้จักพระไตรปิฎก ให้ชัด ให้ตรง”
พระพรหมคุณาภรณ์

ดาวน์โหลดหนังสือ คลิกที่นี่ => รู้จักพระไตรปิฎก ให้ชัด ให้ตรง  

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ปรารภ

หนังสือนี้ถือว่าเขียนพอเสร็จให้อ่านไปพลางก่อน เพราะเรื่องที่ปรารภเกิดขึ้นนานแล้วจึงทราบ ควรเร่งให้ความรู้กันไปขั้นหนึ่งก่อนไม่ให้เป็นความประมาท เมื่อใดทราบเรื่องราวที่เป็นไปละเอียดขึ้น ถ้าเวลาอำนวยและร่างกายยังไหว อาจจะได้ต่อได้เติม

เรื่องราวจำพวกปัญหาที่เกิดทยอยมาระยะนี้ แสดงชัดถึงสภาพของพุทธบริษัท ที่คนไทยเหินห่างจากเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา ขาดความรู้หลักธรรมวินัย ไม่รู้จักคำพระคำวัดที่พูดจาคุ้นกันมาจนกลายเป็นคำพูดสามัญในสังคมไทย มีแต่ความเข้าใจผิดพลาดเพี้ยนกันไป เมื่อมีเรื่องจำพวกปัญหาเกิดขึ้น ถ้าไม่ถึงกับหลงไปตามเขา ก็มองไม่ออก ตัดสินไม่ได้

จำเป็นต้องรีบตื่นกันขึ้นมา ข้อสำคัญที่สุดอยู่ที่ต้องหาต้องให้ความรู้เข้าใจที่ถูกต้อง คือต้องศึกษา เมื่อรู้เข้าใจเพียงพอแล้ว มีอะไรเกิดขึ้นมา ก็สามารถพิจารณา มองออกและบอกได้ทันที

หนังสือ รู้จักพระไตรปิฎก ให้ชัด ให้ตรง นี้ มิใช่จะตอบโต้ใครแต่มุ่งรักษาประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ อย่างน้อยให้ปลอดพ้นความรู้ผิดเข้าใจพลาดที่เป็นภัยสำคัญ หลายอย่างคงจะยากสักหน่อย แต่ว่าด้วยเรื่องที่จำ เป็นต้องรู้ เพื่อมีคุณสมบัติสมกับที่ได้นับถือพระพุทธศาสนา จึงพึงอดทนศึกษา เหมือนเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นพุทธศาสนิกชน

ผู้เขียน (พระพรหมคุณาภรณ์)
๑๒ มีนาคม ๒๕๕๘
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

อาการเมื่อปฏิบัติผิด

อาการเมื่อปฏิบัติผิด

โยคีบางท่านกำหนดใจซ้อนกันก็มี ส่งใจไปกำหนดขวาย่างหนอ ใจหนึ่งก็จะไปดูรูปธรรมอยู่แล้ว อีกใจหนึ่งก็ยังแอบไปดูว่าใจที่เราส่งไปมันถึงหรือเปล่า กลายเป็น๒ อย่างซ้อนกันไปเลย ผลที่สุดปวดสมอง เกิดอาการเครียด ทำอย่างนี้ไม่ได้ อย่าไปทำ มันซ้อนกัน

ถ้าเราจะไปดูรูปธรรมก็ไปดูอาการขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ อาการของรูปธรรมเลย อย่าไปตามนามธรรม คือใจที่เราส่งไปกลัวมันจะไปไม่ถึงบ้าง อย่าไปดูใจที่ตามไปหา ตามไปดูรูปธรรม ไม่เช่นนั้นจะเกิดอาการเครียดขึ้นมา ทีนี้อาการที่โยคีบางท่านเป็นอยู่ เช่น กำหนด ๆ ไปเกิดอาการปวดหลังขึ้นมา เสร็จแล้วก็ขึ้นมาบนหัว มาเวียนหัว อาเจียน สาเหตุที่ให้เกิดอาการอย่างนี้ เหตุใหญ่ ๆ มีอยู่ ๒ อย่าง คือ

๑) โยคีพยายามบังคับใจให้อยู่กับอาการ เช่น ขวาย่างหนอ ใจของเราก็ส่งไปที่เท้าอยู่ อีกส่วนหนึ่งต้องการจะให้ใจมันอยู่ที่เท้า กลัวมันจะฟุ้งออกไปข้างนอก คือไประแวง ตัวหนึ่งอยากให้ใจอยู่ตรงนี้ อีกใจก็ระแวง กลัวใจจะฟุ้งออกไปข้างนอก ทำให้ทำงาน ๒ อย่าง พอมันทำ งาน ๒ อย่าง มันก็เกิดอาการเครียดขึ้นมา เมื่อความเครียดมันไล่ ๆ ขึ้นมาข้างหลัง ทำให้เวียนหัวและอาเจียนได้

๒) เมื่อเรายืนแล้วเราลดสายตาประมาณวาหนึ่ง พอสายตาไปตกตรงไหน โยคีบางท่านไม่เข้าใจจ้องพื้นใหญ่เลย บางทีเห็นเป็นรูปร่างอะไรต่ออะไร ถ้าไปจ้องอย่างนั้นก็จะเกิดอาการเวียนหัวขึ้นมาทันที อย่าไปทำอย่างนั้น เวลากำหนด อย่าไปบังคับใจให้อยู่กับอาการถ้าไปบังคับเขาจะเกิดปฏิกิริยาปวด เวียนหัว อาเจียน ถ้าเป็นอยู่ให้รีบแก้

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ แนวทางการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
โดย พระครูภาวนาสมณวัตร (ประจาก สิริวณฺโณ)

วิธีส่งใจในการกำหนด

วิธีส่งใจในการกำหนด

การกำหนดเป็นหัวใจในการปฏิบัติ ให้ส่งใจไปกำหนดดูอาการความเป็นไปของกาย เวทนา จิต และธรรม ฟังแล้วดูเหมือนง่าย ๆ แต่ว่าเวลาทำจริง ๆ มันไม่ค่อยถึง การส่งใจถ้าไม่ถึงอาการแล้ว มันก็ไม่สามารถรู้สภาวะนั้นได้ชัด

วิธีการส่งใจอุปมาให้เห็นง่าย ๆ เหมือนอย่างที่เรานั่งอยู่บ้านหรืออยู่ที่วัด นั่งคุยกับเพื่อนเรื่องอะไรต่าง ๆ ไม่เกี่ยวกับกรรมฐาน เกิดมีอะไรตกข้าง ๆ เรา เราไม่สนใจแล้วคู่สนทนา หรือเรื่องราวที่สนทนาอยู่เราก็ไม่สนใจ หันไปเลยว่าอะไรตกมา ส่งใจไปเต็มที่เลย วิธีส่งใจก็คือย่างนี้เอง ในตัวเราจะมีหัว มีตัว มีขา อะไรก็แล้วแต่ เราละทิ้งความสนใจสิ่งเหล่านั้น

ขณะที่เรานั่งอยู่ เราก็มุ่งน้อมใจไปหาอาการของท้องที่พอง-ยุบ ที่ปรากฏอยู่ ส่งใจไปให้แนบอยู่กับอาการจริง ๆ พอเริ่มพองขึ้นมาก็บริกรรมพองหนอ ไม่ต้องสนใจอย่างอื่น เวลาเขาเริ่มยุบก็บริกรรมยุบหนอจนสุดยุบ เวลาเดินจงกรมก็เช่นเดียวกัน คอเราจะมี แขน หรือขาเราจะมีก็ตามเราไม่ใส่ใจ ให้เราส่งใจไปดูอาการของเท้าที่กำลังยกขึ้น ที่กำลังเคลื่อนไป ที่กำลังเหยียบลงอย่างนี้ ส่งใจไปแนบอยู่กับอาการนั้น

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ แนวทางการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
โดย พระครูภาวนาสมณวัตร (ประจาก สิริวณฺโณ)