Archive | มิถุนายน 2013

การสร้างพระพุทธรูป

การสร้างพระพุทธรูป

พระพุทธรูปนี้ไม่ว่าจะอยู่ที่ในวิหาร อยู่ในโบสถ์ อยู่ในศาลา ในสถานที่สำคัญต่างๆ ใครที่เป็นพุทธศาสนิกชนจะเป็นมนุษย์ก็ดี จะเป็นเทพก็ดี เมื่อได้พบเห็นแล้วก็จะไปกราบไปไหว้ด้วยความสนิทใจ แล้วก็น้อมอาศัยพระพุทธรูปเป็นเครื่องน้อมระลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เรามาติดแค่พระพุทธรูปตรงนี้ เราเห็นท่านเราก็น้อมเอาองค์ท่านเป็นตัวแทน แล้วก็น้อมถึงคุณของพระพุทธเจ้า 9 บทใหญ่ๆ มีอรหังคุณ เป็นต้น มีอรหังสัมมาสัมพุทโธ ที่เราสวดอิติปิโส เราอาศัยพระพุทธรูปเป็นสื่อให้น้อมถึงคุณของพระพุทธเจ้าที่มีต่อเนไวยสัตว์ทั้งหลาย ดังนั้นพระพุทธรูปชื่อว่าเป็นศูนย์รวมใจของเราศาสนิกชนทั้งหลาย มีพระพุทธรูปแล้วเราได้กราบไหว้บูชา โดยสนิทใจ

การสร้างพระพุทธรูปในศาลาการปฏิบัติธรรม เหมือนหนึ่งองค์สมเด็จพ่อได้ประดิษฐานได้ปรากฏเป็นองค์ให้เราเห็นได้กราบ ได้ไหว้ ได้สักการะบูชา ได้น้อมระลึกถึงคุณของท่าน ก็จะเกิดปิติปราโมทย์ บางทีอาศัยพุทธคุณเกิดปิติปราโมทย์แล้วเราน้อมพิจารณาปิติปราโมทย์ โดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็สามารถทำให้ผู้กราบระลึกนี้ ยังอริยมรรค อริยผลตั้งแต่โสดาเป็นต้นจนถึงอรหันมรรคเป็นที่สุดนี่ก็เกิดขึ้นได้

ดังนั้นขอให้ท่านสาธุชนทั้งหลายที่มาร่วมทำกุศลในครั้งนี้ จงได้เกิดความปลื้มอกปลื้มใจ ว่าเราได้สร้างองค์สมเด็จพ่อ รูปแทนขององค์สมเด็จพ่อ ประดิษฐานให้เป็นที่กราบไหว้บูชาของเทพเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายตลอดไป เราดูแล้วเราจะได้มีความปลื้มปิติอยู่เป็นประจำ

จากธรรมบรรยาย พระครูปลัดประจาก สิริวณฺโณ ในโอกาสสร้างพระพุทธรูปประจำศาลาตาณัง เลณัง

จิตของเราเหมือนวัวตัวน้อย

จิตเราเหมือนวัวตัวน้อย

จิตเราเหมือนวัวตัวน้อย ปกติมันจะดื่มนมของแม่อยู่เป็นประจำ มันคลอเคลียไม่ยอมจากแม่มันไปไหน ทีนี้มันดูดนมของแม่มันเป็นประจำบุคคลที่ต้องการนมโค ต้องทำอย่างไร ก็ต้องเอาวัวตัวเล็กไปผูกกับหลักไว้ ทีนี้วัวตัวนี้มันเคยวิ่งไปวิ่งมา มันอยู่ใกล้แม่ เราเอาห่างจากแม่ มันก็ดิ้นรนทุรนทุราย วิ่งทะยานไปทางโน้นที เสร็จแล้วพอสุดเชือกมันก็กลับมา วิ่งไปวิ่งมาอยู่อย่างนี้เป็นประจำ จนผลที่สุดมันอ่อนตัวลงมันก็มานอนอยู่ตรงหลักนั่น

อุปมานี้ฉันใด ท่านก็บอกว่าปกติใจของคนเราก็เป็นอย่างนั้น ปกติมันวิ่งออกไปทางโน้นที ออกไปทางตาที ทางหูที ทางจมูกที ทางลิ้นทีทางกายที ทางใจที มันวิ่งไปวิ่งมารอบสารทิศ ทุกทิศเลย ใจมันคิดของมันไป เราจะทำใจที่พยศ ใจที่มันไม่อยู่กับหลักกับร่องกับรอย ให้มันอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง

องค์สมเด็จพ่อบอกว่าเราต้องอาศัยหลักในที่นี้ก็คือ “สติปัฏฐาน เชือกนี่เหมือนหนึ่ง “สติ” โคเหมือนกับ จิต” เอาเชือกเหมือนสติผูกจิตไว้ พอผูกจิตไว้ จิตมันทะยานวิ่งไปทางโน้นที คิดไปทางโน้นที เราก็กำหนดมันก็มานอนอยู่ที่ “สติปัฏฐาน” ดึงมันไป ผูกมันกับหลักกายบ้าง ผูกหลักเวทนาบ้าง ผูกหลักจิตบ้าง ผูกหลักธรรมบ้าง คอยพยายามตะล่อมๆ ให้มันอยู่ ภายในหลัก 4 หลักนี่แหละ

จากหนังสือ แนวทางการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน พระครูปลัดประจาก สิริวณฺโณ

<><><><><><><><><><><>><><><>

ข้อความจากอรรถกถาสโตการิญาณนิเทศ
(ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค)

จิตของภิกษุนั้นคุ้นในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นตลอดกาลนาน ไม่ปรารถนาจะพอกพูนอารมณ์อันเป็นอานาปานสติสมาธิ จิตย่อมแล่นไปนอกทางทีเดียว ดุจรถเทียมด้วยโคโกง เพราะฉะนั้น เปรียบเหมือนคนเลี้ยงโค ประสงค์จะฝึกลูกโคโกงที่ดื่มน้ำนมทั้งหมดของแม่โคนมโกงให้เจริญ จึงนำออกจากแม่โคนม ฝังเสาใหญ่ไว้ข้างหนึ่ง เอาเชือกผูกไว้ที่เสานั้น ทีนั้นลูกโคของเขาไม่อาจดิ้นจากที่นั้นๆ หนีไปได้ จึงหมอบนอนนิ่งอยู่กับเสานั้นเอง ฉันใด

แม้ภิกษุนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ประสงค์จะฝึกจิตที่ประทุษร้ายให้เจริญ ด้วยการดื่มรสมีรูปารมณ์เป็นต้นตลอดกาลนาน จึงนำออกจากอารมณ์มีรูปเป็นต้น แล้วเข้าไปยังป่าก็ดี โคนไม้ก็ดี เรือนว่างก็ดี ผูกด้วยเชือกคือสติ ที่เสาคือลมอัสสาสะและปัสสาสะนั้น จิตของภิกษุนั้นแม้ดิ้นรนไปข้างโน้นข้างนี้ เมื่อไม่ได้อารมณ์ที่สะสมไว้ในกาลก่อน ก็ไม่สามารถจะตัดเชือกคือสติหนีไปได้ จึงนั่งสงบ นอนนิ่งอยู่กับอารมณ์นั้นนั่นเอง ด้วยสามารถแห่งอุปจารและอัปปนา.

ด้วยเหตุนั้น ท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

นรชนพึงผูกลูกโคที่ควรฝึกไว้ที่เสานี้ ฉันใด
ภิกษุพึงผูกจิตของตนไว้ในอารมณ์ ด้วยสติ ให้มั่นคง ฉันนั้น.

<><><><><><><><><><><>><><><><><><><><>