Archive | กุมภาพันธ์ 2011

ความมุ่งหมายของสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

ความมุ่งหมายของสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน
รวบรวมและเรียบเรียงจาก : ธรรมบรรยาย พระครูปลัดประจาก สิริวณฺโณ

การประพฤติปฏิบัติธรรม เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการปฏิบัติธรรมในแนวทางศาสนานี้ มีวิธีการปฏิบัติกี่อย่าง และแต่ละอย่างมีความมุ่งหมายอย่างไร เรารู้ไว้เป็นพื้น เป็นเบื้องต้นก่อน ถ้าไม่งั้นการมุ่งของเราจะหลงทิศหลงทาง เพราะว่าบ้านเราส่วนมาก จะหนักไปทางสมถกรรมฐาน ที่นี้พอจะมาพูดถึงเรื่องกรรมฐานแล้วนี่ มาปฏิบัติทีไร ตั้งใจจะให้เป็นสมาธิอย่างเดียว ซึ่งมันไม่ใช่อย่างนั้น ฉะนั้นอาจารย์จะได้พูดถึง เรื่องแนวทางการปฏิบัติกรรมฐานในศาสนาของเรา ให้ท่านพระโยคาวจรและโยคี ได้รับทราบเป็นเบื้องต้นก่อน

ในศาสนาของเรา ท่านบอกว่าทางที่จะไปสู่พระนิพพานมีอยู่ 2 ทาง ทางหนึ่งเรียกว่าทางโดยอ้อม ทางหนึ่งเรียกว่าทางโดยตรง ทางโดยอ้อมเรียกว่า สมถยานิกะ ยานคือสมถะ เป็นการเจริญสมถกรรมฐานก่อนแล้วก็น้อมมาสู่วิปัสสนาทีหลัง แต่ถ้าเรามาเจริญวิปัสสนาจนถึงเข้านิพพาน เขาเรียกว่า ทางโดยตรง หรือวิปัสสนายานิกะ ยานคือวิปัสสนา เป็นการมุ่งเข้าไปสู่นิพพานโดยตรงเลย ไม่มีแวะข้องตรงไหน ไม่ต้องอ้อมมาหาสมถะก่อน แต่เข้าไปสู่นิพพานโดยตรง

สมถะ จริงๆ แล้วในศาสนาของเราอนุโลมปฏิโลมเข้าเป็นธรรมะอันหนึ่ง เพราะสมถะก็เป็นตัวกุศลธรรมเหมือนกัน เป็นรูปกุศล อรูปกุศล เป็นของดี ให้ผลดี ไม่ขัดคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็มีการทําสมถะอยู่ สมถกรรมฐานนั้น พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นมาหรือไม่อุบัติขึ้นมา เขามีอยู่แล้ว เป็นอยู่แล้ว เราดูพระพุทธเจ้าตอนออกบวชใหม่ๆ ท่านยังไม่ได้สําเร็จเป็นพระสัมมาสัมโพธิฌาณ ท่านไปเรียนกับอุทกดาบส และอาฬารดาบส เรียนกับอุทกดาบสได้อะไร ได้สมาบัติ 7 เรียนกับอุทกดาบสได้สมาบัติ 8 แสดงว่า สมาบัติ ฌาน อภิญญามีมาก่อนแล้ว แต่วิปัสสนาพระพุทธเจ้าท่านตรัสเอง ไม่มีในศาสนาอื่น มีอยู่เฉพาะในพุทธศาสนาเท่านั้น

แนวสมถะนั้นเราต้องทำความเข้าใจว่า ตัวสมถะเป็นอย่างไร มุ่งหมายเป็นอย่างไร เบื้องแรกเรามาทำความเข้าใจคำว่าสมถก่อน สมถะนี้ศัพท์เดิมจริงๆ มาจากสมุธาตุ คำว่าสมุธาตุโดยอรรถว่า อุปสเม แปลว่าสงบ ฉะนั้นคำว่า สมถะแปลว่าสงบ สงบจากอะไร “กิเลเส สเมตีติ สมโถ” “ธรรมใดที่ทำให้กิเลส มีกามฉันทะนิวรณ์ เป็นต้น (นิวรณ์ 5 นะ) สงบลง ธรรมนั้นชื่อว่า สมถะ” ที่นี้เราไปเรียกอะไรว่า ตัวสมถะ ตัวสมถะได้แก่สมาธิ หรือ เอกัคคตาเจตสิก ฉะนั้น การเจริญสมถะเรามุ่งต้องการให้สมาธิเกิด ต้องการให้จิตสงบแนบแน่นอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างไม่หวั่นไหว พอจิตสงบมีสมาธิแล้ว สบายมีความสุข เงียบสงบ ใจไม่วอกแวก ใจไม่เดือดร้อน ไม่ดิ้นรน ไม่กระวนกระวาย แต่สมาธิมีความสบายมากแนบแน่นอยู่ในอารมณ์เดียว

วิธีที่ทำให้สมถะเกิดมีอยู่ 40 วิธี วิธีที่จะทำให้สมาธิเกิดมีอยู่ 40 วิธีนะ หมวดแรกเรียกว่า กสิณ 10 (เพ่งกสิณ) หมวดที่สอง อสุภ 10 (พิจารณาอสุภ) หมวดที่สามอนุสสติ 10 (พิจารณาพุทธานุสสติ เป็นต้น) หมวดที่สี่ พรหมวิหาร 4 หมวดที่ห้า จตุธาตุววัฏฐาน 1 หมวดที่หก อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 หมวดที่เจ็ด อรูปกรรมฐาน 4 รวมทั้งหมด 40 วิธี ที่จะทำให้สมถะเกิด ถ้าเรามุ่งต้องการให้เกิดสมาธิ ต้องเจริญ สมถกรรมฐาน

วิปัสสนาแยกเป็น 2 บท วิบทหนึ่ง ปัสสนาบทหนึ่ง วิแปลว่าพิเศษ ปัสสนาแปลว่า เห็นแจ้ง รวม 2 บทแล้ว คำว่าวิปัสสนาแปลว่า ความเห็นแจ้งเป็นพิเศษ “วิเสเสน ปสฺสตีติ วิปสฺสนา” “ความเห็นแจ้งเป็นพิเศษชื่อว่าวิปัสสนา” ตัวของวิปัสสนาได้แก่ปัญญา วิธีการที่จะทำให้ปัญญาเกิดมี 2 วิธี คือไปกำหนดอาการของกาย กับอาการของใจ ถ้าภาษาธรรมะเรียกว่า รูปกับนาม คือไปกำหนดดูรู้รูปกับนาม เป็นอารมณ์ที่เป็นเหตุปัจจัยให้วิปัสสนาเกิด

การเจริญวิปัสสนามุ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งปัญญา และการปฏิบัติวิปัสสนามี 2 วิธี คือ 1 รูป 2 นาม เข้าไปพิจารณารูปกับนามหรือเข้าไปกำหนดดูรู้รูปกับนาม เรียกว่า “เตภูมมก สังขารธรรม” คือ รูปนามที่เป็นไปในภูมิ 3

จุดประสงค์ในการเจริญวิปัสสนา มุ่งหมายให้ได้มาซึ่งปัญญา การเจริญสมถเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาธิ เหมือนกันมั้ย ไม่เหมือนกันนะ อันหนึ่งต้องการสมาธิ อันหนึ่งต้องการปัญญา อันนี้เราจะมาเจริญวิปัสสนา ฉะนั้นใครใจวอกแวก ฟุ้งโน่นฟุ้งนี่อย่าบ่นนะ ห้ามบ่น “แหมใจเราไม่ยอมสงบสักที” เพราะว่าเราไม่ได้มาให้ใจนิ่งโดยไม่คิดอะไร ไม่ใช่นะ จะต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป

สมาธิที่เราใช้ในการเจริญวิปัสสนานี้ เค้าเรียกว่า ขณิกสมาธิ ชั่วขณะ เช่นว่า ขวาย่างหนอให้ใจแนบกับขวาไปจนสุด ซ้ายย่างหนอให้แนบไปกับซ้ายจนสุด เค้าไม่ใช่ ขวาๆ ขวาๆ ตลอด ซ้ายๆ ซ้ายๆ ตลอดไม่ใช่นะ ขวาย่างหนอ เป็นขณะหนึ่ง ซ้ายย่างหนอเป็นขณะหนึ่ง ไม่เหมือนกันนะ พองเป็นขณะหนึ่ง ยุบเป็นขณะหนึ่ง จะพองๆ พองๆ ตลอดก็ไม่ได้ ยุบๆ ยุบๆ ตลอดอย่างเดียวก็ไม่ได้ เอาชั่วขณะ ชั่วขณะ ฉะนั้นใจของเราไม่ใช่ว่านิ่งอยู่ตรงนี้อย่างเดียว แล้วจะไม่ให้หวั่นไหวไปที่อื่น อันนั้นไม่ใช่นะ เรามาเจริญวิปัสสนา อย่าไปบ่นเรื่องความฟุ้งนะ เพราะว่าวิธีการกำหนดพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้มีอยู่ ฉะนั้นเราไม่ต้องบ่น ที่ฟุ้งฟุ้งไป รู้ตอนไหนกำหนดตอนนั้น กำหนดว่าไง ฟุ้งหนอ ฟุ้งหนอ นั่นแหละก็เป็นอารมณ์กรรมฐาน เรื่องวิธีพิสดาร เดี๋ยวค่อยพูดกันต่อไป

อันนี้ให้เข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า ที่เรามาเจริญวิปัสสนา จุดมุ่งหมายต้องการก็คือให้เกิดปัญญา