Archive | มีนาคม 2011

ภัทเทกรัตตสูตร : พึงทำความเพียรเสียแต่วันนี้

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
วิภังควรรค

๑. ภัทเทกรัตตสูตร

[๕๒๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญแก่เธอทั้งหลาย พวกเธอจงฟังอุเทศและวิภังค์นั้น จงใส่ใจให้ดีเราจักกล่าวต่อไป ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ

[๕๒๗] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า

บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบันไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด

พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผลัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแล ว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ

[๕๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร คือ รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า เราได้มีรูปอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีเวทนาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสัญญาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสังขารอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีวิญญาณอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯ

[๕๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลจะไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร คือ ไม่รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า เราได้มีรูปอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีเวทนาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสัญญาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้วได้มีสังขารอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีวิญญาณอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯ

[๕๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร คือ รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีเวทนาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสัญญาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสังขารอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีวิญญาณอย่างนี้ในกาลอนาคต ดูกรภิกษุทั้งหลายอย่างนี้แล ชื่อว่ามุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง ฯ

[๕๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลจะไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร คือ ไม่รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีเวทนาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสัญญาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสังขารอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีวิญญาณอย่างนี้ในกาลอนาคต ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลชื่อว่าไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง

[๕๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร คือ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้

๐ เป็นผู้ไม่ได้เห็นพระอริยะ
๐ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ
๐ ไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ

๐ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ
๐ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ
๐ ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัตบุรุษ

๐ ย่อมเล็งเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง
๐ เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในรูปบ้าง

๐ ย่อมเล็งเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีเวทนาบ้าง
๐ เล็งเห็นเวทนาในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในเวทนาบ้าง

๐ ย่อมเล็งเห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีสัญญาบ้าง
๐ เล็งเห็นสัญญาในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในสัญญาบ้าง

๐ ย่อมเล็งเห็นสังขารโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีสังขารบ้าง
๐ เล็งเห็นสังขารในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในสังขารบ้าง

๐ ย่อมเล็งเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง
๐ เล็งเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลชื่อว่าง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน ฯ

[๕๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร คือ อริยสาวกผู้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้

๐ เป็นผู้ได้เห็นพระอริยะ
๐ ฉลาดในธรรมของพระอริยะ
๐ ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ

๐ ได้เห็นสัตบุรุษ
๐ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ
๐ ฝึกดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ

๐ ย่อมไม่เล็งเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง
๐ ไม่เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในรูปบ้าง

๐ ย่อมไม่เล็งเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีเวทนาบ้าง
๐ ไม่เล็งเห็นเวทนาในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในเวทนาบ้าง

๐ ย่อมไม่เล็งเห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีสัญญาบ้าง
๐ ไม่เล็งเห็นสัญญาในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในสัญญาบ้าง

๐ ย่อมไม่เล็งเห็นสังขารโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีสังขารบ้าง
๐ ไม่เล็งเห็นสังขารในอัตตาบ้างไม่เล็งเห็นอัตตาในสังขารบ้าง

๐ ย่อมไม่เล็งเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง
๐ ไม่เล็งเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน ฯ

[๕๓๔] บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบันไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆให้ปรุโปร่งเถิด

พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผลัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำที่เรากล่าวไว้ว่า เราจักแสดงอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญแก่เธอทั้งหลายนั้น เราอาศัยเนื้อความดังนี้ กล่าวแล้วด้วยประการฉะนี้ ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ

จบ ภัทเทกรัตตสูตร ที่ ๑

การปฏิบัติธรรมไม่ใช่อื่นไกล

การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงไม่ใช่อื่นไกลได้แก่ “การที่เรามาสนใจเอาใจใส่ดุแลตัวเราเอง” และพระพุทธเจ้าตรัสอริยสัจจะ ๔ ไว้ที่ไหน
รวบรวมและเรียบเรียงจาก : ธรรมบรรยาย พระครูปลัดประจาก สิริวณฺโณ

ผู้ที่ปฏิบัติใหม่มักจะคิดว่า คนอย่างเราจะเจริญกรรมฐานได้หรือ ความเห็นจะแตกออกเป็นสองฝ่ายนะ ฝ่ายหนึ่งว่าคนเช่นเรานี่ไม่จำเป็นต้องเข้ากรรมฐาน ถามว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ก็ตั้งแต่เกิดมาเราไม่เคยคิดร้าย ไม่เคยโกรธ ไม่เคยทำอะไรคนอื่นเค้าเลย อิจฉาริษยาเราก็ไม่มี ฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องทำกรรมฐาน คนที่ไปทำคือคนที่มีจิตใจไม่ปกติ อันนี้ประเภทหนึ่งนะ ประเภทที่สองนี่ก็กลัวกรรมฐาน กลัวว่าคนอย่างเรานี้จะทำกรรมฐานได้หรือ นึกกลัวกรรมฐานซะก่อน พออาจารย์ได้ทราบก็เลยต้องปรับ ต้องทำความเข้าใจของทั้งสองฝ่าย

อย่างที่บอกว่าคนอย่างเราไม่จำเป็นต้องทำกรรมฐาน ใจเราไม่เคยคิดร้าย ไม่เคยโกรธ ไม่อิจฉาริษยาใครเลย ใจเราปกติดีอยู่แล้ว คนที่ทำกรรมฐานคือคนที่จิตใจไม่ปกติ เค้าต้องไปอบรมใจ ที่นี้อาจารย์จะถามญาติโยมที่นั่งกันอยู่ที่นี่ ถามว่าโทสะมีกันไหม ตอนนี้ที่กำลังฟังอาจารย์พูดนี่โทสะมีไหม ถ้าตอบไม่มีเลยก็คงจะไม่ได้นะ ต้องตอบแบบยวนๆ ว่า “มีไม่มี” ต้องตอบเป็นสองอย่างนะ มีไม่มีเป็นอย่างไร โทสะเรามีไหม เราจะบอกว่าไม่มีไม่ได้ เพราะว่า โทสะมี 3 ชนิด ชนิดหนึ่งเรียกว่า อนุสัยกิเลส ปฏิฆานุสัย นอนเอกเขนกอยู่ในหัวใจ เหมือนเชื้อไฟอยู่ในหัวไม้ขีด ในหัวไม้ขีดมีไฟไหม มีนะ มีเชื้ออยู่ ถ้าไปกระทบกระทั่งกับข้างกล่องไม้ขีดเข้า จะโผล่ออกมาเลยนะ โทสะนี่จะตัดได้ตอนเป็นพระอนาคามีนะ ปุถุชนเราละไม่ได้ ไม่ต้องว่าปุถุชนหรอก โสดาบัน สกทาคามี ก็ยังละไม่ได้ อนาคามิมรรคจึงสามารถประหานโทสะได้เด็ดขาด ของเรานี่ยังมีอยู่นะ อันนี้เรียกว่ามีโดยความเป็นอนุสัย

โทสะที่สองเรียกว่า ปริยุฏฐานกิเลส ปริยุฏฐานโทสะเป็นโทสะที่ผุดโผล่ขึ้นมาในใจ เหมือนเราเอาไม้ขีดไปขีดกับข้างกล่องไม้ขีดไฟ ไฟเกิดขึ้นทันทีนะ อันที่สามเรียกว่า วีติกกมกิเลส วีติกกมโทสะ เป็นโทสะที่ล่วงออกมาทางกาย วาจา เหมือนไฟที่ติดอยู่ที่หัวไม้ขีดกำลังเผา ล่วงออกมาทางกาย วาจา ปากสั่น ตัวสั่น จะด่าจะอะไร จะไปทำร้ายใครก็แล้วแต่ ถ้าจะถามว่าโทสะท่านมีไหม มีไม่มีเป็นคำตอบที่ถูกนะ คนที่บอกว่าเราไม่มีกิเลส ไม่อิจฉาริษยาใคร เราหมดไหมความโกรธ อิจฉาริษยาใคร ไม่หมดนะ ยังมีอยู่แต่ไม่ได้แสดงออกมาเท่านั้นเอง

ประเภทที่สองที่บอกว่า กลัวว่าตัวเองนี่จะปฏิบัติได้หรือ มองว่าการปฏิบัติเป็นเหมือนอะไรที่ใหญ่ๆ ยากๆ อันที่จริงไม่ใช่นะ “การเจริญวิปัสสนากรรมฐานที่แท้จริงไม่ใช่อื่นไกล ได้แก่การที่เรามาสนใจเอาใจใส่ดูแลตัวเอง” พูดง่ายๆ ตัวเรามาดูตัวเรา ที่นี้ถามว่าตัวเรามาดูตัวเรา มีใครดูตัวเองไม่ได้มีไหม ใครที่ดูตัวเองไม่ได้ไม่มีนะ ไม่เห็นจะน่ากลัวตรงไหน เพื่อให้เกิดความเบาใจ การปฏิบัติมันไม่ใช่หนักหนาสาหัส ก็แค่การที่เรามาดูตัวเองนี่เอง คำนี้ไม่ใช่อาจารย์พูดลอยๆ นะ มีที่มาที่ไปนะ

อันนี้หลักฐานมีอยู่ใน อังคุตรนิกาย จตุกกะนิบาต โรหิตัสสะสูตร ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่โรหิตัสสะเทวดา เทวดาในที่นี้ได้แก่พรหม ไม่ใช่เทวดาในกามาวจรหกชั้น แต่เป็นพรหม เมื่อก่อนนี้เป็นฤาษีท่านมีอายุสองร้อยปี ท่านอยากจะรู้ว่าที่สุดของโลก ไปสิ้นสุดที่ไหน ท่านก็เหาะไปเลยนะ เหาะไปจนอายุขัยหมด ยังไม่เห็นที่สุด ยิ่งไป ยิ่งเห็นโลกจักรวาลมันไม่มีที่สิ้นสุด อนันตจักรวาลไม่มีที่สิ้นสุด ท่านไปเท่าไหร่ก็หาที่สุดไม่ได้ ก็เลยมรณภาพเสียก่อน ยังไม่เห็นที่สุดของโลกเลยท่านก็ไปเกิดเป็นพรหม แล้วสมัยที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก ท่านก็ลงมาถามปัญหาว่า “ที่สุดของโลกอยู่ตรงไหน” พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า

“อปิ จาหํ อาวุโส อิมสฺมึเยว พฺยามมตฺเต กเฬวเร สสญฺญิมฺหิ สมนเก โลกญฺจ ปัญญฺเปมิ โลกสมุทยญฺจ โลกนิโรธญฺจ โลกนิโรธคามินิญฺจ ปฏิปทนฺติ”

อริยสัจจะ ๔ มี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ในการแสวงหาอริยสัจจะธรรม เราจะไปแสวงหาที่ไหน เราจะนั่งเครื่องบินไปหาในอากาศจะเจอไหม เราอาศัยเรือดำน้ำลงไปในมหาสมุทรค้นหาจะเจอไหม เราจะขุดแผ่นดินลงไปลึกลงไปเท่าไหร่เราจะเจอไหม เราเอาต้นไม้ใบหญ้าผ่าเป็นซีกๆ ตัดเป็นท่อนๆ เพื่อค้นหาอริยสัจจะธรรม จะเจอไหม

พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ที่ไหน “ตถาคตตรัสอริยสัจจะธรรม ไว้ในร่างกายที่ยาววา” แต่บ้านเรามีอีกสองศัพท์นะ คือ “ร่างกายนี้กว้างศอก ยาววา หนาคืบ” ตรัสไว้ที่นี่เอง ฉะนั้นเมื่อเราจะค้นหาอริยสัจจะธรรม เราต้องน้อมมาค้นหาตรงนี้ คือค้นหาในร่างกายของเราตรงนี้เอง

ฉะนั้น ในที่นี้จึงบอกว่า การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงไม่ใช่อื่นไกล ได้แก่การที่เรามาเอาใจใส่ดูแลตัวเราเอง

อ่านโรหิตัสสสูตร >>>> คลิกที่นี่

โรหิตัสสสูตร: พระพุทธเจ้าตรัสอริยสัจ ๔ ไว้ที่ไหน

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓
อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

โรหิตัสสสูตรที่ ๑
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี

ครั้งนั้นแลโรหิตัสสเทวบุตร เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว มีรัศมีงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติในโอกาสใดหนอแล พระองค์อาจหรือหนอเพื่อจะทรงทราบ เพื่อจะทรงเห็นหรือเพื่อจะทรงถึงซึ่งที่สุดแห่งโลกด้วยการเสด็จไปในโอกาสนั้น

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอาวุโส สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใดแล เราย่อมไม่กล่าวโอกาสนั้นว่าเป็นที่สุดแห่งโลกที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึงด้วยการไป ฯ

โร. อัศจรรย์ พระเจ้าข้า สิ่งไม่เคยมีได้มีขึ้น พระเจ้าข้า เท่าที่พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ว่า ดูกรอาวุโส สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตายย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใดแล เราย่อมไม่กล่าวโอกาสนั้น ว่าเป็นที่สุดแห่งโลก ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึง ด้วยการไป เป็นอันตรัสดีแล้ว

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว ข้าพระองค์เป็นฤาษีชื่อโรหิตัสสะเป็นบุตรนายบ้าน มีฤทธิ์ไปในอากาศได้ ความเร็วของข้าพระองค์นั้นเปรียบได้กับนายขมังธนู ผู้มีธนูอันมั่นเหมาะ ศึกษาดีแล้ว เชี่ยวชาญ เคยแสดงให้ปรากฏแล้ว พึงยิงลูกศรอันเบาให้ผ่านเงาตาลด้านขวางไปได้โดยไม่สู้ยาก ฉะนั้น การยกย่างเท้าแต่ละก้าวของข้าพระองค์ เปรียบด้วยสมุทรด้านตะวันตกไกล จากสมุทรด้านตะวันออก ฉะนั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความปรารถนาเห็นปานนี้ว่า เราจักถึงที่สุดแห่งโลกด้วยการไป เกิดขึ้นแล้วแก่ข้าพระองค์นั้นผู้ประกอบด้วยกำลังเร็วเห็นปานนั้น และด้วยการยกย่างเท้าเห็นปานนั้น ข้าพระองค์นั้นแล เว้นจากการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม เว้นจากการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เว้นจากการหลับและการบรรเทาความเหน็ดเหนื่อย เป็นผู้มีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปีในคราวที่มนุษย์มีอายุร้อยปี ไปตลอดร้อยปี ไม่ทันถึงที่สุดแห่งโลก ได้ทำกาละเสียในระหว่างทีเดียว น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า สิ่งไม่เคยมี ได้มีขึ้นพระเจ้าข้า

เท่าที่พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ว่า ดูกรอาวุโสสัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาส
ใด เราไม่กล่าวโอกาสนั้น ว่าเป็นที่สุดแห่งโลก ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึงด้วยการไป เป็นอันตรัสดีแล้ว

พ. ดูกรอาวุโส สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใด เราไม่กล่าวโอกาสนั้น ว่าเป็นที่สุดแห่งโลก ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึง ด้วยการไป และเราย่อมไม่กล่าวการกระทำที่สุดแห่งทุกข์ เพราะไปไม่ถึงที่สุดแห่งโลก

แต่เราย่อมบัญญัติโลก เหตุเกิดแห่งโลก ความดับแห่งโลก และปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งโลก ในอัตภาพอันมีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญาและมีใจนี้เท่านั้น ฯ

ในกาลไหนๆ ที่สุดแห่งโลก อันใครๆ ไม่พึงถึงด้วยการไปและการเปลื้องตนให้พ้นจากทุกข์ ย่อมไม่มีเพราะไม่ถึงที่สุด แห่งโลก เพราะฉะนั้นแล ท่านผู้รู้แจ้งโลก มีเมธาดีถึงที่สุดแห่งโลก มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว เป็นผู้มีบาปอันสงบ รู้ที่สุดแห่งโลกแล้ว ย่อมไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า ฯ

อรรถกถา
บทว่า โลกํ คือ ทุกขสัจ.
บทว่า โลกสมุทยํ คือ สมุทยสัจ.
บทว่า โลกนิโรธํ คือ นิโรธสัจ.
บทว่า ปฏิปทํ คือ มรรคสัจ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ผู้มีอายุ เราย่อมไม่บัญญัติสัจจะ ๔ เหล่านี้ลงในหญ้าและไม้เป็นต้น แต่เราย่อมบัญญัติลงในกายนี้ที่มีมหาภูต ๔ เท่านั้น.

สัทธาสูตร : ว่าด้วยศรัทธาของพระอริยสาวก

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

สัทธาสูตร
ว่าด้วยศรัทธาของพระอริยสาวก

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวอังคะชื่ออาปณะ ในแคว้นอังคะ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรมาแล้วตรัสว่า

ดูกรสารีบุตร อริยสาวกผู้ใดมีศรัทธามั่น เลื่อมใสยิ่งในพระตถาคต อริยสาวกนั้นไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัยในตถาคต หรือในศาสนาของตถาคต.

พระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อริยสาวกใด มีศรัทธามั่นเลื่อมใสยิ่ง ในพระตถาคต อริยสาวกนั้น ไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัย ในพระตถาคตหรือในศาสนาของพระตถาคต ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม มีกำลัง มีความบากบั่น มั่นคงไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็วิริยะของอริยสาวกนั้น เป็นวิริยินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียรแล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้มีสติประกอบด้วยสติเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง จักระลึกถึง ตามระลึกถึง กิจที่ทำและคำพูดแม้นานได้.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สติของอริยสาวกนั้น เป็นสตินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียร เข้าไปตั้งสติไว้แล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักยึดหน่วงนิพพานให้เป็นอารมณ์ ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สมาธิของอริยสาวกนั้น เป็นสมาธินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียร เข้าไปตั้งสติไว้ มีจิตตั้งมั่นโดยชอบ พึงหวังข้อนี้ได้ว่าจักรู้ชัดอย่างนี้ว่า สงสารมีที่สุดและเบื้องต้นอันบุคคลรู้ไม่ได้แล้ว เบื้องต้นที่สุดไม่ปรากฏแก่เหล่าสัตว์ ผู้มีอวิชชาเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกไว้ ผู้แล่นไปแล้ว ท่องเที่ยวไปแล้ว ก็ความดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งกองมืดคืออวิชชา นั้นเป็นบทอันสงบ นั่นเป็นบทอันประณีตคือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสิ้นกำหนัดความดับ นิพพาน.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ปัญญาของอริยสาวกนั้น เป็นปัญญินทรีย์ อริยสาวกนั้นแล พยายามอย่างนี้ ครั้นพยายามแล้ว ระลึกอย่างนี้ ครั้นระลึกแล้ว ตั้งมั่นอย่างนี้ ครั้นตั้งมั่นแล้ว รู้ชัดอย่างนี้ ครั้นรู้ชัดแล้ว ย่อมเชื่อมั่นอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่านี้ ก็คือธรรมที่เราเคยได้ฟังมาแล้วนั่นเอง เหตุนั้น บัดนี้ เราถูกต้องด้วยนามกายอยู่ และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ศรัทธาของอริยสาวก เป็นสัทธินทรีย์ ดังนี้แล.

พ. ดีละๆ สารีบุตร อริยสาวกใดมีศรัทธามั่น เลื่อมใสในตถาคตอริยสาวกนั้นไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัย ในพระตถาคต หรือในศาสนาของพระตถาคต ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม มีกำลัง มีความบากบั่น มั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย.

ดูกรสารีบุตร ก็วิริยะของอริยสาวกนั้น เป็นวิริยินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียรแล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง จักระลึกถึง ตามระลึกถึง กิจที่ทำและคำที่พูดแม้นานได้.

ดูกรสารีบุตร ก็สติของอริยสาวกนั้น เป็นสตินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียร เข้าไปตั้งสติไว้แล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักยึดหน่วงนิพพานให้เป็นอารมณ์ ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต.

ดูกรสารีบุตร ก็สมาธิของอริยสาวกนั้น เป็นสมาธินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียร เข้าไปตั้งสติไว้ มีจิตตั้งมั่นโดยชอบ พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักรู้ชัดอย่างนี้ว่า สงสารมีที่สุดและเบื้องต้น อันบุคคลรู้ไม่ได้แล้ว เบื้องต้นที่สุดไม่ปรากฏแก่เหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกไว้ ผู้แล่นไปแล้ว ท่องเที่ยวไปแล้ว ก็ความดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งกองมืด คืออวิชชา นั่นเป็นบทอันสงบ นั่นเป็นบทอันประณีตคือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสิ้นกำหนัด ความดับ นิพพาน.

ดูกรสารีบุตร ก็ปัญญาของอริยสาวกนั้น เป็นปัญญินทรีย์ อริยสาวกนั้น แลพยายามอย่างนี้ ครั้นพยายามแล้ว ระลึกอย่างนี้ ครั้นระลึกแล้ว ตั้งมั่นอย่างนี้ ครั้นตั้งมั่นแล้วรู้ชัดอย่างนี้ ครั้นรู้ชัดแล้ว ย่อมเชื่อมั่นอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่านี้ ก็คือธรรมที่เราเคยได้ฟังมาแล้วนั่นเอง เหตุนั้น บัดนี้ เราถูกต้องด้วยนามกายอยู่ และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา.

ดูกรสารีบุตร สิ่งใดเป็นศรัทธาของอริยสาวกนั้น สิ่งนั้นเป็นสัทธินทรีย์ของอริยสาวกนั้น ดังนี้แล.