Archive | สิงหาคม 2011

คาถาธรรมบท อัตตวรรคที่ ๑๒

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

คาถาธรรมบท อัตตวรรคที่ ๑๒

หากว่าบุคคลพึงรู้ว่าตนเป็นที่รักไซร้
พึงรักษาตนนั้นไว้ ให้เป็นอัตภาพอันตนรักษาดีแล้ว
บัณฑิตพึงประคับประคองตนไว้ตลอดยามทั้งสาม

ยามใดยามหนึ่ง
บุคคลพึงยังตนนั้นแลให้ ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรเสียก่อน
พึงพร่ำสอนผู้อื่นในภายหลัง บัณฑิตไม่พึงเศร้าหมอง

หากว่าภิกษุพึงทำตนเหมือนอย่างที่ตนพร่ำสอนคนอื่นไซร้
ภิกษุนั้นมีตนอันฝึกดีแล้วหนอ พึงฝึก ได้ยินว่าตนแลฝึกได้ยาก

ตนแลเป็นที่พึ่งของตน บุคคลอื่นไรเล่าพึงเป็นที่พึ่งได้
เพราะว่าบุคคลมีตนฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งอันได้โดยยาก

ความชั่วที่ตนทำไว้เองเกิดแต่ตน มีตนเป็นแดนเกิด
ย่อมย่ำยีคนมีปัญญาทรามดุจเพชรย่ำยีแก้วมณีที่เกิดแต่หิน ฉะนั้น

ความเป็นผู้ทุศีลล่วงส่วน ย่อมรวบรัดอัตภาพของบุคคลใด
ทำให้เป็นอัตภาพ อันตนรัดลงแล้ว
เหมือนเถาย่านทรายรวบรัดไม้สาละให้เป็น อันท่วมทับแล้ว
บุคคลนั้นย่อมทำตนเหมือนโจรผู้เป็นโจกปรารถนา โจรผู้เป็นโจก ฉะนั้น

กรรมไม่ดีและไม่เป็นประโยชน์แก่ตน ทำได้ง่าย
ส่วนกรรมใดแล เป็นประโยชน์ด้วย ดีด้วย กรรมนั้นแลทำได้ยากอย่างยิ่ง

ผู้ใดมีปัญญาทราม อาศัยทิฐิอันลามก
ย่อมคัดค้านคำสั่งสอนของพระ-พุทธเจ้า ผู้อรหันต์
เป็นพระอริยเจ้า มีปกติเป็นอยู่โดยธรรม
การคัดค้านและทิฐิอันลามกของผู้นั้น
ย่อมเผล็ดเพื่อฆ่าตน เหมือนขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ฉะนั้น

ทำชั่วด้วยตนเอง ย่อมเศร้าหมองด้วยตนเอง
ไม่ทำชั่วด้วยตนเอง ย่อมหมดจดด้วยตนเอง
ความบริสุทธิ์ ความไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตัว
คนอื่นพึงชำระคนอื่นให้หมดจดหาได้ไม่

บุคคลไม่พึงยังประโยชน์ของตนให้เสื่อม
เพราะประโยชน์ของผู้อื่นแม้มาก
บุคคลรู้จักประโยชน์ของตนแล้ว
พึงขวนขวายในประโยชน์ของตน ฯ

จบอัตตวรรคที่ ๑๒