Archive | ธันวาคม 2011

อัปปมาทธรรม : ความไม่ประมาท

“อัปปมาทธรรม” สรุปย่อ : จากธรรมบรรยาย หลวงพ่อประจาก

คำว่า “ไม่ประมาท” หรือ “อัปปมาทะ” เป็นชื่อของสติ “อัปปมาทธรรม” เป็นธรรมที่มีความสำคัญมากที่สุด แม้แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาท่านจะปรินิพพาน ท่านตักเตือนภิกษุทั้งหลาย ที่มาประชุมเป็นครั้งสุดท้าย เรียกว่า “ปัจฉิมโอวาท” หลังจากตรัสปัจฉิมโอวาทแล้ว ต่อไปท่านไม่ตรัสอะไรเลย เข้าญาณออกญาณ แล้วในที่สุดก็ปรินิพพาน

ในปัจฉิมโอวาทพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า
“ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา พวกเธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม”

ทรงตรัสไว้ที่เมืองกุสินารา ใครเคยไปเที่ยวอินเดียสถานที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานที่เมืองกุสินารา เราได้ธรรมสังเวชจากที่นั่น ดูว่าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่จะหาผู้ที่เปรียบปานไม่ได้ ไม่ว่าด้านทิศไหนได้อย่างไร ท่านก็ต้องตกอยู่ในสภาพ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในชาติสุดท้ายท่านปรินิพพานไปแล้วก็ไม่ต้องเกิด

แต่เมื่อมีสังขารธรรม มีรูปนามอยู่อย่างนี้ คำว่าไม่ตายคือเป็นไปไม่ได้ จะประเสริฐขนาดไหน ก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ในอัตภาพของเรานี้ แต่ตายแล้วจะเกิดอีกไหมเป็นอีกเรื่องนึง องค์สมเด็จพ่อไม่มีแล้ว ปรินิพพานไปแล้ว

ใครยังเห็นว่าพระพุทธเจ้าไปนอน ไปนั่งอยู่บนวิมาน ไม่งั้นท่านจะปรินิพพานเพื่อประโยชน์อะไร ถ้ายังมีขันธ์อยู่ก็ต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เป็นไปไม่ได้นะ ทางศาสนาของเรามีพูดไว้เยอะ บางทีความเห็นผิด เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว อาศัย “สมถนิมิต” ทำให้เกิดความเห็นผิด เห็นพลาดไปจากความเป็นจริง หรืออีกอย่างหนึ่ง ความรู้ทางด้านปริยัติธรรมไม่มั่นคง

ธรรมที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ตลอด 45 พรรษา รวมแล้วลงอยู่ที่ “ความไม่ประมาท”

โอวาทที่องค์สมเด็จพ่อทรงแสดงไว้ ตลอด 45 พรรษา ที่ทรงประทานไว้แก่ภิกษุทั้งหลายและสรรพสัตว์ทั้งหลายนี้ นับด้วยปิฎกได้ 3 ปิฎก พระวินัยปิฎก พระสุตตันตะปิฎก พระอภิธรรมปิฎก นับเป็นนิกายได้ 5 นิกาย ที มะ สัง อัง ขุ เมื่อว่าด้วยองค์ได้ 9 นวังคสัตถุ เมื่อว่าด้วยธรรมขันธ์ ได้ 84000 พระธรรมขันธ์ ธรรมทั้งหมดเหล่านี้ที่ทรงตรัสไว้ตลอด 45 พรรษา องค์สมเด็จพ่อทรงรวบรวมลงในศัพท์บทว่า “อัปปมาทะ” ศัพท์เดียวเท่านั้นเอง ประมวลแล้วลงอยู่ใน “อัปปมาทธรรม” คือความเป็นผู้ไม่ประมาท ซึ่งก็ได้แก่ “สติ” คือ ความเป็นผู้มีสตินั่นเอง

ในสังยุตนิกาย มหาวรรค ใน “ปทสูตร” องค์สมเด็จพ่อท่านอุปมาว่า บรรดารอยเท้าที่สรรพทั้งหลาย ที่สัญจรไปมาในปฐวีนี้ รอยเท้าที่ใหญ่ที่สุดก็คือรอยเท้าช้าง รอยเท้าอื่นๆ ที่จะเหยียบลงไปก็จมอยู่ในรอยเท้าของรอยเท้าช้าง ไม่มีอะไรนอกไปจากรอยเท้าช้าง ดังนั้นธรรมะขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ใน 84000 พระธรรมขันธ์ตลอด 45 พรรษา ย่อลงใน “ความไม่ประมาท” อย่างเดียวเท่านั้นเอง

ดังนั้นตัว “สติ” ที่เรากำลังประพฤติปฏิบัติกันอยู่ กำหนดแต่ละหนอๆ ที่เราสร้างมานี้ อันนี้เป็นจุดศูนย์ใหญ่ เป็นใหญ่กว่าธรรมทั้งปวง เป็นธรรมที่จะทำให้เราเข้าถึงซึ่ง “พระนิพพาน”

อ่านสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค “ปทสูตร” >>> คลิก

จากธรรมบรรยาย เรื่อง มาลุงกยปุตตสูตร (1) ในคอร์สเข้าพรรษาปี 2551

ปทสูตร : กุศลธรรมทั้งปวงมีความไม่ประมาทเป็นมูล

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
ปทสูตร : กุศลธรรมทั้งปวงมีความไม่ประมาทเป็นมูล

สาวัตถีนิทาน.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลาย ผู้สัญจรไปบนแผ่นดิน ชนิดใดชนิดหนึ่ง ทั้งหมดนั้นย่อมถึงความประชุมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้าง บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่ารอยเท้าเหล่านั้น เพราะเป็นรอยใหญ่ แม้ฉันใด

กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งทั้งหมดนั้น “มีความไม่ประมาทเป็นมูล” “รวมลงในความไม่ประมาท” ความไม่ประมาทบัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่ากุศลธรรมเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ไม่ประมาท พึงหวังข้อนี้ได้ว่า “จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘” จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ไม่ประมาท ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า?

ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๐ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ
๐ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่ประมาท ย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.