Archive | มกราคม 2011

ผัคคุณสูตร

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔
อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

คัดบางส่วนจาก : ผัคคุณสูตร

ครั้งนั้นเป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้น เสด็จเข้าไปเยี่ยมท่านพระผัคคุณะถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระผัคคุณะว่า

ดูกรผัคคุณะ เธอพออดทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาย่อมบรรเทาไม่กำเริบหรือ ปรากฏว่าบรรเทาไม่กำเริบขึ้นหรือ

ท่านพระผัคคุณะกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กำเริบหนักไม่บรรเทา ปรากฏว่ากำเริบนั้นไม่บรรเทาเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนบุรุษ มีกำลังพึงเฉือนศีรษะด้วยมีดโกนที่คม ฉันใด ลมกล้าเสียดแทงศีรษะของข้าพระองค์ ฉันนั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กำเริบหนัก ไม่บรรเทา ปรากฏว่ากำเริบขึ้น ไม่บรรเทาเลย เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังพึงเอาเชือกที่เหนียวแน่นพันศีรษะ ฉันใด ความเจ็บปวดที่ศีรษะของข้าพระองค์ก็มีประมาณยิ่ง ฉันนั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ เปรียบเหมือนบุรุษฆ่าโค หรือลูกมือของบุรุษฆ่าโค เป็นคนขยันพึงใช้มีดสำหรับชำแหละโคที่คม ชำแหละท้องโค ฉันใด ลมกล้ามีประมาณยิ่งย่อมเสียดแทงท้องของข้าพระองค์ ฉันนั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ …เปรียบบุรุษผู้มีกำลังสองคน จับบุรุษผู้อ่อนกำลังคนเดียวที่แขนคนละข้าง แล้วพึงลนย่างบนหลุมถ่านไฟ ฉันใด ความเร่าร้อนที่กายของข้าพระองค์ก็ประมาณยิ่งฉันนั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กำเริบหนัก ไม่บรรเทา ปรากฏว่ากำเริบขึ้นไม่บรรเทาเลย

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงด้วยธรรมีกถา ให้ท่านพระผัคคุณะเห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง แล้วเสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป

ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปแล้วไม่นาน ท่านพระผัคคุณะได้กระทำกาละและในเวลาตายอินทรีย์ของท่านพระผัคคุณะนั้นผ่องใสยิ่งนัก ฯ

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากมาไม่นาน ท่านพระผัคคุณะก็กระทำกาละ และในเวลาตายอินทรีย์ของท่านพระผัคคุณะผ่องใสยิ่งนัก

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรอานนท์ ก็อินทรีย์ของผัคคุณภิกษุจักไม่ผ่องใสได้อย่างไร จิตของผัคคุณภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ จิตของผัคคุณภิกษุนั้น ก็หลุดพ้นแล้วจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น

ดูกรอานนท์ อานิสงส์ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน

ดูกรอานนท์ จิตของภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ในเวลาใกล้ตายเธอได้เห็นตถาคต ตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น อันงามในท่ามกลาง อันงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เธอ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๑ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ฯ

อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคตเลย แต่ได้เห็นสาวกของพระตถาคต สาวกของพระตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่เธอ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๒ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ฯ

อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคต และไม่ได้เห็นสาวกของตถาคตเลย แต่ย่อมตรึกตรองเพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา เมื่อเธอตรึกตรองเพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาอยู่ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๓ ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร ฯ

ดูกรอานนท์ จิตของมนุษย์ในธรรมวินัยนี้ ได้หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ในเวลาใกล้ตาย เธอย่อมได้เห็นพระตถาคต พระตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น … แก่เธอ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๔ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ฯ

อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุหลุดพ้นแล้วจากสังโยชน์ อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ในเวลาใกล้ตาย เธอย่อมไม่ได้เห็นพระตถาคต แต่เธอย่อมได้เห็นสาวกของพระตถาคต สาวกของพระตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น … แก่เธอ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๕ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ฯ

อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุหลุดพ้นแล้วจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพาน อันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ในเวลาใกล้ตาย เธอย่อมไม่ได้เห็นพระตถาคตและย่อมไม่ได้เห็นสาวกของพระตถาคตเลย แต่เธอย่อมตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา เมื่อเธอตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาอยู่ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลสอันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อ ๖ ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควรฯ

ดูกรอานนท์ อานิสงส์ในการฟังธรรม ในการใคร่ครวญเนื้อความโดยกาลอันควร ๖ ประการนี้แล ฯ

ชนสูตร

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒
อังคุตตรนิกาย, ติกนิบาต, ทุติยปัณณาสก์

พราหมณวรรคที่ ๑ ชนสูตรที่ ๑
[๔๙๑]
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี

ครั้งนั้นแล พราหมณ์ ๒ คน เป็นคนชรา แก่เฒ่า
ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ มีอายุได้ ๑๒๐ ปี แต่กำเนิด
ได้ชวนกันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค
ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว
จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
พวกข้าพระองค์เป็น พราหมณ์ชรา แก่เฒ่า
ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ มีอายุได้ ๑๒๐ ปี แต่กำเนิด
แต่มิได้สร้างความดี มิได้ทำกุศล
มิได้ทำกรรมอันเป็นที่ต้านทานความขลาดไว้

ขอพระโคดมผู้เจริญ
ทรงโอวาทสั่งสอนพวกข้าพระองค์
ถึงข้อที่จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุข
แก่พวกข้าพระองค์สิ้นกาลนานเถิด

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรพราหมณ์ ที่แท้ พวกท่านเป็นคนชรา แก่เฒ่า
ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับมีอายุได้ ๑๒๐ ปี แต่กำเนิด
แต่มิได้สร้างความดี มิได้ทำกุศล
มิได้ทำกรรมอันเป็นที่ต้านทานความขลาดไว้

ดูกรพราหมณ์ โลกนี้ถูกชรา พยาธิ มรณะ นำเข้าไปอยู่แล
เมื่อโลกถูกชรา พยาธิ มรณะ นำเข้าไปอยู่เช่นนี้
ความสำรวม ทางกาย ความสำรวมทางวาจา
ความสำรวมทางใจในโลกนี้
ย่อมเป็นที่ต้านทาน เป็นที่เร้น เป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง
เป็นที่ยึดหน่วงของเขาผู้ละไปแล้ว ฯ

ชีวิตถูกชรานำเข้าไปใกล้ความมีอายุสั้น
ผู้ที่ถูกชรานำเข้าไปใกล้แล้ว ย่อมไม่มีที่ต้านทาน
เมื่อบุคคลเล็งเห็นภัยในความตายนี้
ควรทำบุญทั้งหลายอันนำความสุขมาให้
ความสำรวมทางกาย ทางวาจา และทางใจ ในโลกนี้
ย่อมเป็นไปเพื่อความสุขแก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้ว
ผู้ซึ่งสร้างสมบุญไว้แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ฯ

ชนสูตรที่ ๒
[๔๙๒]
ครั้งนั้นแล พราหมณ์ ๒ คน เป็นคนชรา แก่เฒ่า
ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ มีอายุได้ ๑๒๐ ปี แต่กำเนิด
ได้ชวนกันเข้ามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
พวกข้าพระองค์เป็นพราหมณ์ชราแก่เฒ่า
ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ มีอายุได้ ๑๒๐ ปี แต่กำเนิด
แต่มิได้สร้างความดีมิได้ทำกุศล
มิได้ทำกรรมอันเป็นที่ต้านทานความขลาดไว้

ขอพระโคดมผู้เจริญ ทรงโอวาทสั่งสอน
ถึงข้อที่จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ และความสุข
แก่พวกข้าพระองค์สิ้นกาลนานเถิด

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรพราหมณ์ พวกท่านเป็น คนชรา แก่เฒ่า
ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ มีอายุได้ ๑๒๐ ปี แต่กำเนิด
แต่มิได้สร้างความดี มิได้ทำกุศล
มิได้ทำกรรมอันเป็นที่ต้านทานความขลาดไว้

ดูกรพราหมณ์ โลกนี้ถูกชรา พยาธิ มรณะแผดเผาแล้ว
ดูกรพราหมณ์ เมื่อโลกถูกชรา พยาธิ มรณะแผดเผาแล้วเช่นนี้
ความสำรวมทางกาย ความสำรวมทางวาจา
ความสำรวมทางใจในโลกนี้
ย่อมเป็นที่ต้านทาน เป็นที่เร้นเป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง
และเป็นที่ยึดหน่วงแก่เขาผู้ละไปแล้ว ฯ

เมื่อเรือนถูกไฟไหม้
สิ่งของที่นำออกได้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เขา
สิ่งของที่ถูกไหม้อยู่ในเรือนนั้น หาเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เขาไม่
ฉันใด เมื่อโลกถูกชราและมรณะแผดเผาแล้ว
ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลควรนำเอาออกมาด้วย
การให้ทาน สิ่งที่ให้ไปแล้ว ย่อมเป็นอันบุคคลนำออกมาดีแล้ว
ความสำรวมทางกาย ทางวาจา และทางใจในโลกนี้