Archive | ธันวาคม 2010

วักกลิสูตร:ว่าด้วยการเห็นธรรมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙
สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค

คัดจาก : วักกลิสูตร : ว่าด้วยการเห็นธรรมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า

[๒๑๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์. สมัยนั้นแล ท่านพระวักกลิอาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา พักอยู่ที่นิเวศน์ของนายช่างหม้อ.

ครั้งนั้น ท่านพระวักกลิ เรียกภิกษุผู้อุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้ว กล่าวว่า มาเถิดอาวุโส ท่านทั้งหลาย จงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ จงถวายบังคมพระยุคลบาทด้วยเศียรเกล้า ตามคำของเราแล้ว ทูลว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธเป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ท่านถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า และพวกท่านจงทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ได้ยินว่า ท่านขอประทานวโรกาส ขอทูลเชิญพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาท่านวักกลิถึงที่อยู่เถิด.

ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านวักกลิแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ท่านถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า และทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ได้ยินว่า ท่านขอประทานพระวโรกาส ขอทูลเชิญพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาวักกลิภิกษุถึงที่อยู่เถิด พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ.

[๒๑๖] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงครองผ้าแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่ ท่านพระวักกลิ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้ว ก็ลุกขึ้นจากเตียง.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระวักกลิว่า อย่าเลย วักกลิเธออย่าลุกจากเตียงเลย อาสนะเหล่านี้ ที่เขาปูลาดไว้มีอยู่ เราจะนั่งที่อาสนะนั้น. พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้.

ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระวักกลิว่า ดูกรวักกลิเธอพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนานั้น ปรากฏว่าทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ.

ท่านพระวักกลิกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ไม่สามารถยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์แรงกล้า มีแต่กำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย ทุกขเวทนาปรากฏว่ากำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย.

พ. ดูกรวักกลิ เธอไม่มีความรำคาญ ไม่มีความเดือดร้อนอะไรบ้างหรือ?

ว. พระเจ้าข้า ที่แท้จริง ข้าพระองค์มีความรำคาญไม่น้อย มีความเดือดร้อนอยู่ไม่น้อยเลย.

พ. ดูกรวักกลิ ก็ตัวเธอเอง ไม่ติเตียนตนเองได้โดยศีลบ้างหรือ?

ว. พระเจ้าข้า ตัวข้าพระองค์เอง จะติเตียนได้โดยศีลก็หาไม่.

พ. ดูกรวักกลิ ถ้าหากว่า ตัวเธอเองติเตียนตนเอง โดยศีลไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นเธอจะมีความรำคาญและมีความเดือดร้อนอะไร?

ว. พระเจ้าข้า จำเดิมแต่กาลนานมาแล้ว ข้าพระองค์ประสงค์จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แต่ว่าในร่างกายของข้าพระองค์ ไม่มีกำลังพอที่จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้.

พ. อย่าเลย วักกลิ ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมีประโยชน์อะไร? ดูกรวักกลิผู้ใดแล เห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นธรรม. วักกลิเป็นความจริง บุคคลเห็นธรรม ก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเราก็ย่อมเห็นธรรม.

วักกลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?

ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?

ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?

ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?

ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมทราบชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสสอน ท่านพระวักกลิ ด้วยพระโอวาทนี้แล้ว ทรงลุกจากอาสนะ เสด็จไปยังภูเขาคิชฌกูฏ.

สังฆาฏิสูตร:เห็นธรรมย่อมชื่อว่าเห็นเรา

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

สังฆาฏิสูตร : เมื่อเห็นธรรมย่อมชื่อว่าเห็นเรา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ถ้าแม้ภิกษุจับที่ชายสังฆาฏิแล้ว
พึงเป็นผู้ติดตามไปข้างหลังๆ เดินไปตามรอยเท้าของเราอยู่ไซร้

แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้มีอภิชฌาเป็นปรกติ
มีความกำหนัดแรงกล้าในกามทั้งหลาย
มีจิตพยาบาท มีความดำริ แห่งใจชั่วร้าย
มีสติหลงลืม ไม่รู้สึกตัว
มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด
ไม่สำรวมอินทรีย์

โดยที่แท้ ภิกษุนั้นอยู่ห่างไกลเราทีเดียว
และเราก็อยู่ห่างไกลภิกษุนั้น

ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะภิกษุนั้นย่อมไม่เห็นธรรม
เมื่อไม่เห็นธรรมย่อมชื่อว่าไม่เห็นเรา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ถ้าแม้ภิกษุนั้นพึงอยู่ในที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์ไซร้

แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่มีอภิชฌา
ไม่มีความกำหนัดอันแรงกล้าในกามทั้งหลาย
ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความดำริแห่งใจชั่วร้าย
มีสติมั่น รู้สึกตัว มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว
สำรวมอินทรีย์

โดยที่แท้ ภิกษุนั้นอยู่ใกล้ชิดเราทีเดียว
และเราก็อยู่ใกล้ชิดภิกษุนั้น

ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะภิกษุนั้นย่อมเห็นธรรม
เมื่อเห็นธรรมย่อมชื่อว่าเห็นเรา ฯ

แผ่เมตตา แผ่อุทิศส่วนกุศล และคำอธิษฐาน

แผ่เมตตา แผ่อุทิศส่วนกุศล และคำอธิษฐาน
หลวงพ่อประจากนำกล่าวในวันปิดการอบรม

แผ่เมตตา
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอแผ่เมตตา
ไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย

มีบิดามารดา ครูบาอาจารย์
ท่านผู้มีบุญคุณ ท่านผู้มีพระคุณ

ตลอดถึงสรรพสัตว์ทั้งหลาย
มีมนุษย์ สมุททเทวดา ภุมมัฏฐเทวดา
รุกขเทวดา อารักขเทวดา อากาสัฏฐเทวดา
เทวดาที่รักษาบ้าน เทวดาที่รักษาเมือง
เทวดาที่รักษาวัดวาศาสนา
และเทวดาที่รักษา………….แห่งนี้
สัมมาเทวดา มิจฉาเทวดาทั้งหลาย

ตลอดถึงเปรตะวิสัยทั้งหลาย
เดรัจฉานทั้งหลาย

ที่อยู่ใกล้ตัวข้าพเจ้าก็ดี
ที่อยู่ไกลตัวข้าพเจ้าก็ดี

ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น
จงอยู่ร่วมกัน ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข
อย่าได้มีเวรซึ่งกันและกันเลย
อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
จงมีความสุขกายสุขใจ
รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ

แผ่อุทิศส่วนกุศล
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมอุทิศบุญกุศล
ที่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ได้บำเพ็ญมาแล้วนี้

มีบุญกุศลที่เกิดจาก
การให้ทานก็ดี
รักษาศีลก็ดี
เจริญวิปัสสนากรรมฐานก็ดี
ได้แผ่เมตตาก็ดี

แด่สรรพสัตว์ทั้งหลาย
มีบิดามารดา ครูบาอาจารย์
ท่านผู้มีบุญคุณ ท่านผู้มีพระคุณ

ตลอดถึงสรรพสัตว์ทั้งหลาย
มีมนุษย์ สมุททเทวดา ภุมมัฏฐเทวดา
รุกขเทวดา อารักขเทวดา อากาสัฏฐเทวดา
เทวดาที่รักษาบ้าน เทวดาที่รักษาเมือง
เทวดาที่รักษาวัดวาศาสนา
และเทวดาที่รักษา………….แห่งนี้
สัมมาเทวดา มิจฉาเทวดาทั้งหลาย

ตลอดถึงเปรตะวิสัยทั้งหลาย
เดรัจฉานทั้งหลาย

ที่อยู่ใกล้ตัวข้าพเจ้าก็ดี
ที่อยู่ไกลตัวข้าพเจ้าก็ดี

เมื่อท่านทั้งหลายรับรู้แล้ว
จงอนุโมทนาในส่วนแห่งบุญกุศล
ที่ข้าพเจ้าทั้งหลายได้น้อมอุทิศให้แล้วนี้

หากท่านทั้งหลายเหล่านั้น
ได้ถึงทุกข์ ก็ขอให้พ้นจากทุกข์
หากท่านทั้งหลายเหล่านั้น
ประสพสุข ก็ขอให้มีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป

คำอธิษฐาน
ด้วยอำนาจแห่งบุญกุศล
ที่ข้าพเจ้าทั้งหลายได้บำเพ็ญมาแล้วนี้
จงเป็นพลวะปัจจัย เป็นนิสัยตามส่ง
ให้เกิดปัญญาญาณทั้งชาตินี้ และชาติหน้า
ตลอดชาติอย่างยิ่ง
ตลอดถึงความพ้นทุกข์ คือ พระนิพพาน

ตราบใดที่ข้าพเจ้าทั้งหลาย
ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะสงสาร
ชื่อว่า ความอดอยาก
ชื่อว่า ความลำบาก
ชื่อว่า ความขาดแคลนใดๆ
อย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย
ทั้งในปัจจุบันภพนี้ และอนาคตภพ
ที่ข้าพเจ้าทั้งหลายยังต้องเกิดนั้นๆ เทอญ