Archive | กุมภาพันธ์ 2015

อุปสิงฆปุปผกชาดก : ว่าด้วยคนดีไม่ควรทำชั่วแม้นิดหน่อย

อุปสิงฆปุปผกชาดก
ว่าด้วยคนดีไม่ควรทำชั่วแม้นิดหน่อย

๐ การที่ท่านเข้าไปสูดดมกลิ่นดอกบัวที่เขายังมิได้ให้ นี้เป็นส่วนแห่งการขโมยอย่างหนึ่ง ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ ท่านชื่อว่า เป็นผู้ขโมยกลิ่น.

๐ เราไม่ได้นำเอาไป ไม่ได้บริโภค เรายืนดมดอกบัวอยู่ในที่ไกล เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไฉน ท่านจึงกล่าวว่า เราเป็นผู้ขโมยกลิ่นดอกบัวเล่า?

๐ บุรุษใด มาขุดเหง้าบัวทั้งหลาย เด็ดเอาดอกบัวไป เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ว่ากล่าวบุรุษนั้น ผู้ทำกรรมหยาบช้าอย่างนี้เล่า?

๐ บุรุษผู้หยาบช้า โหดร้าย แปดเปื้อนไปด้วยบาป เหมือนผ้านุ่งของแม่นม ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ว่ากล่าวบุรุษนั้น แต่ข้าพเจ้าปรารถนาจะว่ากล่าวท่าน ผู้ทำกรรมไม่สมควร.

๐ บาปเพียงเท่าปลายขนทราย ย่อมปรากฏแก่บุรุษผู้ไม่มีโทษเหมือนท่านแสวงหาความสะอาดอยู่เป็นนิตย์ เหมือนเท่ามหาเมฆ ฉะนั้น.

๐ ดูกรเทวดา ท่านรู้จักเรา และอนุเคราะห์เราโดยแท้ ท่านเห็นโทษเช่นนี้ของเรา เมื่อใด ขอท่านจงตักเตือนเราแม้อีก เมื่อนั้น.

๐ ข้าพเจ้าไม่ได้อาศัยท่านเลี้ยงชีพ และไม่เป็นลูกจ้างของท่าน ดูกรภิกษุ ท่านนั้นแล พึงรู้การกระทำอันเป็นเหตุให้ไปสู่สุคติ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๙
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
ปัญจกนิบาตชาดก ขุรปุตตวรรค
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ข้อความบางส่วนจาก อรรถกถาอุปสิงฆปุปผกชาดก

นอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ที่หมู่บ้านในแคว้นกาสี ตำบลหนึ่ง เติบโตแล้วได้เรียนศิลปะในเมืองตักกสิลา ต่อมาได้บวชเป็นฤๅษี เข้าไปอาศัยสระบัวแห่งหนึ่งอยู่ วันหนึ่งลงไปสระนั้น ได้ยืนดมดอกบัวที่บานงดงาม.

ครั้งนั้น เทพธิดาตนหนึ่งสถิตอยู่ที่ลำต้นต้นไม้ เมื่อจะให้ท่านสลดใจ จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-

ดูก่อนท่านผู้เช่นกับด้วยเรา ท่านดมดอกไม้ที่เกิดในน้ำ ดอกบัวที่เขาไม่ได้ให้นี้ใด การดมนี้นั้นเป็นองค์ๆ หนึ่งของการขโมย ท่านเป็นผู้ขโมยกลิ่น.

ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์ จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-

เราไม่ลัก เราไม่เด็ดดอกบัว แต่เรายืนดมอยู่ไกลๆ เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไรหนอ? จึงกล่าวหาว่าเราเป็นผู้ขโมยกลิ่น.

ขณะนั้น ชายคนหนึ่งขุดเหง้าบัวและเด็ดดอกบุณฑริกในสระนั้น พระโพธิสัตว์เห็นเขาแล้ว เมื่อจะเจรจากับเทพธิดานั้นว่า ท่านกล่าวหาเราผู้ยืนดมอยู่แต่ไกลว่าเป็นโจร แต่เหตุไร จึงไม่ว่าชายคนนั้น? จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-

ชายคนนี้ใด ขุดเหง้าบัว เด็ดดอกบุณฑริก ชายคนนี้นั้น ผู้มีการงานเลอะเทอะอย่างนี้ แต่เหตุไรจึงไม่มีใครว่า?

ลำดับนั้น เทวดา เมื่อจะบอกเหตุแห่งการพูดแก่พระโพธิสัตว์นั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ที่ ๕ ว่า :-

ชายผู้มีกรรมหยาบดาดดื่นแล้ว เปรอะเปื้อนบาป เหมือนผ้าอ้อม ข้าพเจ้าจึงไม่มีคำพูดอะไรในเรื่องนั้น แล้วข้าพเจ้าควรเพื่อจะว่ากล่าวเขาได้

สำหรับคนผู้ไม่มีกิเลสดุจเนิน มีปกติแสวงหาความสะอาดเป็นนิจ บาปประมาณเท่าปลายขนทราย จะปรากฏแก่เขาประมาณเท่ากลีบเมฆทีเดียว.

คนนี้จะเป็นผู้เปื้อนไปด้วยบาปทีเดียว เหมือนกับผ้านุ่งของพี่เลี้ยงที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก มูตรและคูถ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่มีการว่าอะไรในเรื่องนั้น.

แต่สมณะทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รักเป็นผู้ใคร่ต่อโอวาท ข้าแต่สมณะ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงควรเพื่อจะว่ากล่าวเขาผู้ทำสิ่งที่ไม่สมควรแม้มีประมาณน้อย.

บาปจะปรากฏเป็นสิ่งมีประมาณเท่าเมฆก้อนใหญ่ บัดนี้ เหตุไฉนท่านจึงจะทำโทษแบบนี้ให้เป็นอัพโภหาริก เป็นเหมือนไม่มีโทษไป.

ส่วนพระโพธิสัตว์ผู้ถูกเทวดาให้สลดใจ ได้ถึงความสังเวชแล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๖ ว่า :-

ข้าแต่ท่านผู้ควรบูชายักษ์ ท่านรู้จักข้าพเจ้าแน่นอน และท่านอนุเคราะห์ข้าพเจ้า ข้าแต่ท่านผู้ควรบูชายักษ์ ท่านจงตำหนิอีก เมื่อท่านเห็นโทษชนิดนี้ของเรา. (พระโพธิสัตว์ร้องเรียกเทวดาว่ายักษ์)

พระโพธิสัตว์กล่าวว่า เมื่อใดท่านเห็นโทษแบบนี้ของข้าพเจ้า เมื่อนั้นท่านพึงว่ากล่าวอย่างนี้ทีเดียว.

ลำดับนั้น เทพธิดาจึงกล่าวคาถาที่ ๗ แก่พระโพธิสัตว์ว่า :-

ข้าพเจ้าไม่ได้อาศัยสิ่งนั้นเลี้ยงชีพเลย ทั้งเราไม่ได้เป็นลูกจ้างท่าน ข้าแต่ภิกษุ ตัวท่านเองควรรู้กรรมที่เป็นเหตุให้ไปสุคติ.

เทพธิดาแสดงว่าข้าพเจ้าไม่เป็นลูกจ้างของท่าน คือไม่เป็นแม้ผู้ทำงานเพื่อสินจ้างของท่าน ข้าพเจ้าจักเทียวพิทักษ์รักษาท่านทุกเวลาด้วยเหตุอะไร?

ข้าแต่ภิกษุ ท่านจะพึงไปสู่สุคติด้วยกรรมอันใด ท่านนั่นแหละพึงรู้.

เทวดา ครั้นให้โอวาทแก่พระโพธิสัตว์อย่างนี้แล้ว ก็กลับเข้าสู่วิมานของตน.
ฝ่ายพระโพธิสัตว์ยังฌานให้เกิด แล้วได้เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรมทั้งหลาย แล้วทรงประชุมชาดกไว้ ในที่สุดแห่งสัจธรรม ภิกษุนั้นดำรงอยู่แล้วในโสดาปัตติผล.

เทพธิดาในครั้งนั้น ได้แก่ พระอุบลวรรณาเถรี ในบัดนี้
ส่วนดาบสได้แก่ เราตถาคต ฉะนี้แล.

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ปัญจวัคคิยสูตร : ว่าด้วยลักษณะแห่งอนัตตา

ปัญจวัคคิยสูตร : ว่าด้วยลักษณะแห่งอนัตตา

[๑๒๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุเบญจวัคคีย์ ฯลฯ แล้วตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปมิใช่ตัวตน. ก็หากว่ารูปนี้จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ รูปนี้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในรูปว่า ขอรูปของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

ก็เพราะเหตุที่รูปมิใช่ตัวตน ฉะนั้นรูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนาในรูปว่า ขอรูปของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา มิใช่ตัวตน. ก็หากเวทนานี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในเวทนาว่า ขอเวทนาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

ก็เพราะเหตุที่เวทนามิใช่ตัวตน ฉะนั้น เวทนาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนาในเวทนาว่า ขอเวทนาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญามิใช่ตัวตน. ก็หากสัญญานี้จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในสัญญาว่า ขอสัญญาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

ก็เพราะเหตุที่สัญญามิใช่ตัวตน ฉะนั้น สัญญาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนาในสัญญาว่า ขอสัญญาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารมิใช่ตัวตน. ก็หากสังขารนี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในสังขารว่า ขอสังขารของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

ก็เพราะเหตุที่สังขารมิใช่ตัวตน ฉะนั้น สังขารจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนาในสังขารว่า ขอสังขารของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณมิใช่ตัวตน ก็หากวิญญาณนี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในวิญญาณว่า ขอวิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

ก็เพราะเหตุที่วิญญาณมิใช่ตัวตน ฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนาในวิญญาณว่า ขอวิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

[๑๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง?
ภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นตัวตนของเรา?
ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุขเล่า?
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นตัวตนของเรา?
ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

[๑๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ

รูปอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งที่อยู่ ในที่ไกลหรือใกล้ รูปทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.

เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้ เวทนาทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั้นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.

สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และ ปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้ สัญญาทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.

สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้ สังขารทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.

วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีตอนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้ วิญญาณทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.

[๑๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัดเพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น. เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว. รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสอนัตตลักขณสูตรนี้ จบลงแล้ว ภิกษุเบญจวัคคีย์ต่างมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ก็แหละเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ภิกษุเบญจวัคคีย์ ก็มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น.

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗
สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
ขันธสังยุตต์ มัชฌิมปัณณาสก์
อุปายวรรค
ปัญจวัคคิยสูตร [อนัตตลักขณสูตร]