คลังเก็บ

คารวสูตร : ว่าด้วยสักการะเคารพธรรมแล้วอาศัยอยู่

คารวสูตร :
ว่าด้วยสักการะเคารพธรรมแล้วอาศัยอยู่

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธ แถบฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตอุรุเวลาประเทศ ฯ

ครั้งนั้น ความปริวิตกแห่งพระหฤทัยบังเกิดแก่พระผู้มีพระภาคผู้เสด็จเข้าที่ลับ ทรงพักผ่อนอยู่อย่างนี้ว่า บุคคลผู้ไม่มีที่เคารพ ไม่มีที่ยำเกรง ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เราจะพึงสักการะ เคารพ อาศัยสมณะหรือพราหมณ์ใครผู้ใดอยู่หนอ ฯ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้มีพระดำริว่า

๐ เราควรสักการะ เคารพสมณะหรือพราหมณ์อื่นแล้วอาศัยอยู่ เพื่อความบริบูรณ์แห่งศีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่ว่า เรายังไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่ถึงพร้อมด้วยศีลยิ่งกว่าตนในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ ซึ่งเราควรสักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่

๐ เราควรสักการะเคารพสมณะหรือพราหมณ์อื่นแล้วอาศัยอยู่ เพื่อความบริบูรณ์แห่งสมาธิที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่ว่าเรายังไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่ถึงพร้อมด้วยสมาธิยิ่งกว่าตนในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ซึ่งเราควรสักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่

๐ เราควรสักการะเคารพสมณะหรือพราหมณ์อื่นแล้วอาศัยอยู่ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่ว่า เรายังไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่ถึงพร้อมด้วยปัญญายิ่งกว่าตนในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ซึ่งเราควรสักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่

๐ เราควรสักการะเคารพสมณะหรือพราหมณ์อื่นแล้วอาศัยอยู่ เพื่อความบริบูรณ์แห่งวิมุตติขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่ว่าเรายังไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่น ที่ถึงพร้อมด้วยวิมุตติยิ่งกว่าตนในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ซึ่งเราควรสักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่

๐ เราควรสักการะเคารพสมณะหรือพราหมณ์อื่นแล้วอาศัยอยู่ เพื่อความบริบูรณ์แห่งวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่ว่า เรายังไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ ยิ่งกว่าตนในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ซึ่งเราควรสักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่

๐ อย่ากระนั้นเลย เราควรสักการะเคารพธรรมที่เราตรัสรู้นั้นแหละ แล้วอาศัยอยู่ ฯ

ลำดับนั้น สหัมบดีพรหม ทราบความปริวิตกแห่งพระหฤทัย ของพระผู้มีพระภาคด้วยใจแล้ว ก็อันตรธานไปในพรหมโลก มาปรากฏเฉพาะ พระพักตร์พระผู้มีพระภาค เหมือนบุรุษมีกำลัง พึงเหยียดออกซึ่งแขนที่คู้อยู่ หรือพึงคู้เข้าซึ่งแขนที่เหยียดอยู่ ฉะนั้น ฯ

ครั้นแล้ว สหัมบดีพรหมกระทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี ไปทางพระผู้มีพระภาค แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดได้มีมาแล้วตลอดกาลอันล่วงแล้ว แม้พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น ก็ทรงสักการะเคารพธรรมนั่นเองแล้วอาศัยอยู่

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดจักมีตลอดกาลไกลอันยังไม่มาถึงแม้พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น ก็จักทรงสักการะเคารพธรรมนั่นเองแล้วอาศัยอยู่

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ ก็ขอจงทรงสักการะเคารพธรรมนั่นแหละ แล้วอาศัยอยู่

สหัมบดีพรหม ได้กราบทูลดังนี้แล้ว ครั้นแล้วได้กล่าวนิคม คาถาอีกว่า

พระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดที่ล่วงไปแล้วก็ดี พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดที่ยังไม่มีมาก็ดี และพระสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดในบัดนี้ผู้ยังความโศกของชนเป็นอันมากให้เสื่อมหายก็ดี พระพุทธเจ้าเหล่านั้นทุกพระองค์ ทรงเคารพพระสัทธรรมอยู่แล้ว ยังอยู่ และจักอยู่ต่อไป ข้อนี้เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

เพราะเหตุนั้นแหละ กุลบุตรผู้รักตนหวังความเป็นผู้ใหญ่ เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงเคารพพระสัทธรรม ฯ

จากสังยุตตนิกาย สคาถวรรค
พรหมสังยุต ปฐมวรรคที่ ๑
คารวสูตรที่ ๒

อัยยิกาสูตร : สัตว์ทั้งหลายต้องตาย เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด

อัยยิกาสูตร

ครั้งนั้นแลเป็นเวลากลางวัน พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท้าวเธอผู้ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่าเชิญเถิดมหาบพิตร พระองค์เสด็จมาจากไหนหนอแต่วัน

พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระอัยยิกาของหม่อมฉัน ผู้ทรงชรา เป็นผู้เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัย มีพระชนม์พรรษา ๑๒๐ พรรษา ได้เสด็จทิวงคตเสียแล้ว ท่านเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของหม่อมฉันมาก พระพุทธเจ้าข้า

หากหม่อมฉันจะพึงได้สมหวังว่า ขอพระอัยยิกาเจ้าขระอัองเราอย่าได้เสด็จทิวงคตเลย ดังนี้ แม้ด้วยใช้ช้างแก้วแลกไซร้ หม่อมฉันพึงให้แม้ซึ่งช้างแก้วเพื่อให้ได้สมหวัง ดังนี้ พระพุทธเจ้าข้า

หากหม่อมฉันพึงได้สมหวังว่า ขอพระอัยยิกาเจ้าของเราอย่าได้เสด็จทิวงคตเลย แม้ด้วยใช้ม้าแก้วแลกไซร้ หม่อมฉันพึงให้แม้ซึ่งม้าแก้วเพื่อให้ได้สมหวัง พระพุทธเจ้าข้า

หากหม่อมฉันพึงได้สมหวังว่า ขอพระอัยยิกาเจ้าของเราอย่าได้เสด็จทิวงคตเลย ดังนี้ แม้ด้วยใช้บ้านส่วยแลกไซร้ หม่อมฉันพึงให้แม้ซึ่งบ้านส่วยเพื่อให้ได้สมหวัง พระพุทธเจ้าข้า

หากหม่อมฉันพึงได้สมหวังว่า ขอพระอัยยิกาเจ้าของเราอย่าได้เสด็จทิวงคตเลย ดังนี้แม้ด้วยใช้ชนบทแลกไซร้ หม่อมฉันพึงให้แม้ซึ่งชนบทเพื่อให้ได้สมหวัง พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง มีมรณะเป็นธรรมดา มีมรณะเป็นที่สุด ไม่ล่วงพ้นมรณะไปได้เลย ดังนี้นั้น เป็นคำตรัสที่ชอบ เป็นของอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ข้อนั้นเป็นอย่างนั้น มหาบพิตร สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง มีความตายเป็นธรรมดา มีความตายเป็นที่สุด ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้เลย

ดูกรมหาบพิตร ภาชนะดิน ชนิดใดชนิดหนึ่ง ทั้งที่ดิบทั้งที่สุก ภาชนะดินเหล่านั้นทั้งหมด มีความแตกเป็นธรรมดามีความแตกเป็นที่สุด ไม่ล่วงพ้นความแตกไปได้เลย แม้ฉันใด ดูกรมหาบพิตรสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง มีความตายเป็นธรรมดา มีความตายเป็นที่สุด ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้เลย ฉันนั้นเหมือนกันแล

พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงต้องตาย เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด
สัตว์ทั้งหลายจักไปตามกรรม เข้าถึงผลแห่งบุญและบาป

คือผู้มีกรรมเป็นบาป จักไปสู่นรก ส่วนผู้มีกรรมเป็นบุญ จักไปสู่สุคติ ฯ
เพราะฉะนั้น พึงทำกรรมงามอันจะนำไปสู่สัมปรายภพ สั่งสมไว้
บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากอัยยิกาสูตร
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

ฉวิโสธนสูตร: ภิกษุพยากรณ์อรหัตตผล

ฉวิโสธนสูตร

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพยากรณ์อรหัตตผลว่า ข้าพเจ้ารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าเพ่อยินดี อย่าเพ่อคัดค้านคำกล่าวของภิกษุรูปนั้น

ครั้นไม่ยินดีไม่คัดค้านแล้ว พึงถามปัญหาเธอว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ โวหารอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ตรัสไว้ชอบ นี้มี ๔ ประการ

๔ ประการเป็นไฉน คือ

๐ คำกล่าวว่า เห็นในอารมณ์ที่ตนเห็นแล้ว

๐ คำกล่าวว่า ได้ยินในอารมณ์ที่ตนฟังแล้ว

๐ คำกล่าวว่า ทราบในอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว

๐ คำกล่าวว่า รู้ชัดในอารมณ์ที่ตนรู้ชัดแล้ว

นี้แล โวหาร ๔ ประการอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธตรัสไว้ชอบ ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในโวหาร ๔ นี้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้วทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ชอบ จึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า

ดูกรท่านผู้มีอายุ

๐ ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัยไม่พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้เห็น มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่

๐ ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้ยิน มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่

๐ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้ทราบ มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่

๐ ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้รู้ชัด มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่

ดูกรท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในโวหาร ๔ นี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พวกเธอควรชื่นชมอนุโมทนาว่า สาธุ ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ อุปาทานขันธ์อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธตรัสไว้ชอบ นี้มี ๕ ประการ

แล ๕ ประการเป็นไฉน คือ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์

ดูกรท่านผู้มีอายุ นี้แลอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ตรัสไว้ชอบแล้ว ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้วทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับสิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้ชอบ จึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า

ดูกรท่านผู้มีอายุ

๐ ข้าพเจ้ารู้แจ้งรูปแล้วแลว่า ไม่มีกำลังปราศจากความน่ารัก มิใช่เป็นที่ตั้งแห่งความชื่นใจ จึงทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในรูป และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในรูปได้

๐ ข้าพเจ้ารู้แจ้งเวทนาแล้วแลว่า … จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในเวทนา และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในเวทนาได้

๐ ข้าพเจ้ารู้แจ้งสัญญาแล้วแลว่า … จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้นสำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในสัญญา และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในสัญญาได้

๐ ข้าพเจ้ารู้แจ้งสังขารแล้วแลว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในสังขาร และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในสังขารได้

๐ ข้าพเจ้ารู้แจ้งวิญญาณแล้วแลว่า ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก มิใช่เป็นที่ตั้งแห่งความชื่นใจ จึงทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับสละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในวิญญาณ และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในวิญญาณได้

ดูกรท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พวกเธอควรชื่นชมอนุโมทนาว่า สาธุ ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ธาตุอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธตรัสไว้ชอบ นี้มี ๖ ประการ

๖ ประการเป็นไฉน คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ

ดูกรท่านผู้มีอายุ นี้แลธาตุ ๖ ประการอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธตรัสไว้ชอบแล้ว ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในธาตุ ๖ นี้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้วทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับสิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้ชอบ จึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า

ดูกรท่านผู้มีอายุ

๐ ข้าพเจ้าครองปฐวีธาตุโดยความเป็นอนัตตามิใช่ครองอัตตาอาศัยปฐวีธาตุเลย จึงทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้นสำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยปฐวีธาตุ และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยปฐวีธาตุได้

๐ ข้าพเจ้าครองอาโปธาตุโดยความเป็นอนัตตา เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยเตโชธาตุ และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยอาโปธาตุได้

๐ ข้าพเจ้าครองเตโชธาตุโดยความเป็นอนัตตา เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยเตโชธาตุ และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยเตโชธาตุได้

๐ ข้าพเจ้าครองวาโยธาตุโดยความเป็นอนัตตา … เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละและสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยวาโยธาตุ และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยวาโยธาตุได้

๐ ข้าพเจ้าครองอากาสธาตุโดยความเป็นอนัตตา เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยอากาสธาตุและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยอากาสธาตุได้

๐ ข้าพเจ้าครองวิญญาณธาตุโดยความเป็นอนัตตา มิใช่ครองอัตตาอาศัยวิญญาณธาตุเลย จึงทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยวิญญาณธาตุ และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยวิญญาณธาตุได้

ดูกรท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในธาตุ ๖ นี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พวกเธอควรชื่นชม อนุโมทนาว่า สาธุ ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ก็อายตนะภายในอายตนะภายนอก อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ตรัสไว้ชอบ นี้มีอย่างละ ๖ แล

อย่างละ ๖ เป็นไฉน คือ จักษุและรูป โสตและเสียง ฆานะและกลิ่น ชิวหาและรส กายและโผฏฐัพพะมโนและธรรมารมณ์

ดูกรท่านผู้มีอายุ นี้แลอายตนะภายใน อายตนะภายนอกอย่างละ ๖ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ตรัสไว้ชอบแล้ว ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไรเล่าจึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอายตนะทั้งภายในทั้งภายนอกอย่างละ ๖ เหล่านี้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้วทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับสิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ชอบ จึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า

ดูกรท่านผู้มีอายุ

๐ ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้วเพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่น และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่น ในจักษุ ในรูป ในจักษุวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณ

๐ ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่น และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่น ในโสต ในเสียง ในโสตวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยโสตวิญญาณ

๐ ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้วเพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดีตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่น และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่น ในฆานะในกลิ่น ในฆานวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยฆานวิญญาณ

๐ ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่น และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่น ในชิวหา ในรส ในชิวหาวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหาวิญญาณ

๐ ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้นสำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี ตัณหาอุปาทานที่ยึดมั่น และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่น ในกาย ในโผฏฐัพพะ ในกายวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยกายวิญญาณ

๐ ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่น และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่น ในมโน ในธรรมารมณ์ ในมโนวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณ

ดูกรท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แลจึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอายตนะทั้งภายในทั้งภายนอกอย่างละ ๖ เหล่านี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พวกเธอควรชื่นชม อนุโมทนาว่า สาธุ ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า ก็เมื่อท่านผู้มีอายุ รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไร จึงถอนอนุสัยคือความถือตัวว่าเป็นเรา ว่าของเรา ในกายอันมีวิญญาณนี้และในนิมิตทั้งหมด ในภายนอกได้ด้วยดี ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้วทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับสิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้ชอบ จึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า

ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อก่อน ข้าพเจ้าเป็นผู้ครองเรือน ยังเป็นผู้ไม่รู้ พระตถาคตบ้าง สาวกของพระตถาคตบ้าง แสดงธรรมแก่ข้าพเจ้านั้นข้าพเจ้าฟังธรรมนั้นแล้ว จึงได้ความเชื่อในพระตถาคต ข้าพเจ้าประกอบด้วยการได้ความเชื่อโดยเฉพาะนั้น จึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า

ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นช่องว่าง เรายังอยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ที่เขาขัดแล้ว นี้ไม่ใช่ทำได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์แล้วออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด

สมัยต่อมา ข้าพเจ้าจึงละโภคสมบัติน้อยบ้าง มากบ้าง ละวงศ์ญาติเล็กบ้าง ใหญ่บ้างปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ แล้วออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตข้าพเจ้า เมื่อเป็นผู้บวชแล้วอย่างนี้ ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีพของภิกษุทั้งหลาย

เพราะละปาณาติบาต จึงเป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศาสตราแล้ว มีความละอาย ถึงความเอ็นดู ได้เป็นผู้อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูต

เพราะละอทินนาทาน จึงเป็นผู้เว้นขาดจากอทินนาทาน ถือเอาแต่ของที่เขาให้ หวังแต่ของที่เขาให้ มีตนเป็นคนสะอาด ไม่ใช่ขโมยอยู่

เพราะละกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ จึงเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล และเว้นจากเมถุนอันเป็นธรรมดาของชาวบ้าน

เพราะละมุสาวาท จึงเป็นผู้เว้นขาดจากมุสาวาท เป็นผู้กล่าวคำจริง ดำรงอยู่ในคำสัตย์ เป็นหลักฐาน เชื่อถือได้ไม่พูดลวงโลก

เพราะละวาจาส่อเสียด จึงเป็นผู้เว้นขาดจากวาจาส่อเสียด ได้ยินจากฝ่ายนี้แล้ว ไม่บอกฝ่ายโน้น เพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือได้ยินจากฝ่ายโน้นแล้วไม่บอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้น ทั้งนี้ เมื่อเขาแตกกันแล้ว ก็สมานให้ดีกันหรือเมื่อเขาดีกันอยู่ ก็ส่งเสริม ชอบความพร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนที่พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมในคนที่พร้อมเพรียงกัน เป็นผู้กล่าววาจาสมานสามัคคีกัน

เพราะละวาจาหยาบ จึงเป็นผู้เว้นขาดจากวาจาหยาบ เป็นผู้กล่าววาจาซึ่งไม่มีโทษเสนาะหู ชวนให้รักใคร่ จับใจ เป็นภาษาชาวเมือง อันคนส่วนมากปรารถนาและชอบใจ เพราะละการเจรจาเพ้อเจ้อ จึงเป็นผู้เว้นขาดจากการเจรจาเพ้อเจ้อกล่าวถูกกาละ กล่าวตามเป็นจริง กล่าวอรรถ กล่าวธรรม กล่าววินัย เป็นผู้กล่าววาจามีหลักฐาน มีที่อ้าง มีขอบเขต ประกอบด้วยประโยชน์ ตามกาล

ข้าพเจ้าเป็นผู้เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม เป็นผู้ฉันหนเดียว งดฉันในเวลาราตรี

เว้นขาดจากการฉันในเวลาวิกาล เป็นผู้เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้องประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล

เป็นผู้เว้นขาดจากการทัดทรงและตบแต่งด้วยดอกไม้ ของหอม และเครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัว

เป็นผู้เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงและใหญ่

เป็นผู้เว้นขาดจากการรับทองและเงิน

เป็นผู้เว้นขาดจากการรับทาสีและทาส

เป็นผู้เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ

เป็นผู้เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร

เป็นผู้เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา

เป็นผู้เว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน

เป็นผู้เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้

เป็นผู้เว้นขาดจากการซื้อและการขาย

เป็นผู้เว้นขาดจากการโกงด้วยตราชั่ง โกงด้วยของปลอม และโกงด้วยเครื่องตวงวัด

เป็นผู้เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง

เป็นผู้เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และการกรรโชก

ข้าพเจ้าได้เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย และบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้องจะไปที่ใดๆ ย่อมถือเอาบริขารไปได้หมด เหมือนนกมีปีก จะบินไปที่ใดๆ ย่อมมีภาระคือปีกของตนเท่านั้น บินไป ฯ

ข้าพเจ้าประกอบด้วยศีลขันธ์ของพระอริยะเช่นนี้แล้ว จึงได้เสวยสุขอันปราศจากโทษภายใน เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่เป็นผู้ถือเอาโดยนิมิตและโดยอนุพยัญชนะ ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์อันมีการเห็นรูปเป็นเหตุ ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้รักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์แล้ว ได้ยินเสียงด้วยโสตแล้ว…ดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว … ลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว … ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว …รู้ธรรมารมณ์ด้วยมโนแล้ว ไม่เป็นผู้ถือเอาโดยนิมิตและโดยอนุพยัญชนะ ปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์อันมีการรู้ธรรมารมณ์เป็นเหตุ ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ รักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์แล้ว ฯ

ข้าพเจ้าประกอบด้วยอินทรียสังวรของพระอริยะเช่นนี้แล้ว จึงได้เสวยสุขอันไม่เจือทุกข์ภายใน ได้เป็นผู้ทำความรู้สึกตัวในเวลาก้าวไปและถอยกลับ ในเวลาแลดูและเหลียวดู ในเวลางอแขนและเหยียดแขน ในเวลาทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร ในเวลาฉัน ดื่ม เคี้ยว และลิ้ม ในเวลาถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ในเวลาเดิน ยืน นั่ง นอนหลับ ตื่น พูด และนิ่ง ฯ

ก็ข้าพเจ้าประกอบด้วยศีลขันธ์ของพระอริยะเช่นนี้ ประกอบด้วยอินทรียสังวรของพระอริยะเช่นนี้ และประกอบด้วยสติสัมปชัญญะของพระอริยะเช่นนี้แล้ว จึงได้พอใจเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำบนภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง

ข้าพเจ้ากลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาอาหารแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า ละอภิชฌาในโลกได้แล้ว มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่

ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌาละความชั่วคือพยาบาทแล้ว เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่

ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความชั่วคือพยาบาท ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้มีจิตปราศจากถีนมิทธะ มีอาโลกสัญญา มีสติสัมปชัญญะอยู่

ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่านมีจิตสงบภายในอยู่

ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามความสงสัยได้ ไม่มีปัญหาอะไรในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่

ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา ฯ

ข้าพเจ้าครั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเครื่องทำใจให้เศร้าหมอง ทำปัญญาให้ถอยกำลังแล้ว จึงได้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ได้เข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ได้เป็นผู้วางเฉย เพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าตติยฌานที่พระอริยะเรียกข้าพเจ้านั้นได้ว่า ผู้วางเฉย มีสติ อยู่เป็นสุขอยู่ ได้เข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ฯ

ข้าพเจ้าเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเครื่องยียวนปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว จึงได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ

ข้าพเจ้าได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่านี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ที่ดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงที่ดับทุกข์ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ที่ดับอาสวะ นี้ปฏิปทาให้ถึงที่ดับอาสวะ

เมื่อข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ได้มีญาณรู้ว่า หลุดพ้นแล้วรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อข้าพเจ้ารู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงถอนอนุสัยคือความถือตัวว่าเป็นเรา ว่าของเรา ในกายอันมีวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้งหมดในภายนอกได้ด้วยดี ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พวกเธอควรชื่นชม อนุโมทนาว่า สาธุ ครั้นแล้วพึงกล่าวแก่ภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เป็นลาภของพวกข้าพเจ้า พวกข้าพเจ้าได้ดีแล้ว ที่พิจารณาเห็นท่านผู้มีอายุ เช่นตัวท่านเป็นสพรหมจารี ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ

จบ ฉวิโสธนสูตร
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จาก ฉวิโสธนสูตร
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

มุทุลักขณชาดก : ว่าด้วยความต้องการไม่มีสิ้นสุด

อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก อิตถีวรรค
มุทุลักขณชาดก : ว่าด้วยความต้องการไม่มีสิ้นสุด

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภสภาวธรรมที่ทำให้คนเศร้าหมอง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า เอกา อิจฺฉา ปุเร อาสิ ดังนี้.

ได้ยินว่า บุรุษชาวเมืองสาวัตถีผู้หนึ่งฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วบรรพชาถวายชีวิตในพระศาสนา กล่าวคือพระรัตนตรัย. เป็นพระโยคาวจรผู้ปฏิบัติเคร่งครัด ไม่ว่างเว้นพระกรรมฐาน.

วันหนึ่ง เที่ยวไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี เห็นหญิงคนหนึ่งตกแต่งตัวสวยงาม ไม่สำรวมจักษุ จ้องดูนางด้วยอำนาจของความงาม. กิเลสภายในของเธอหวั่นไหว เป็นเหมือนต้นไม้มียางอันถูกกรีดด้วยมีดฉะนั้น.

จำเดิมแต่นั้น เธอก็ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ไม่ได้ความสบายกายและความเบาใจเลยทีเดียว ดูวุ่นวายคล้ายกับชมด ไม่มีความยินดีในพระศาสนา ปล่อยผมและขนรุงรังเล็บยาว จีวรก็เศร้าหมอง.

ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสหาย เห็นความเปลี่ยนแปลงแห่งอินทรีย์ของเธอ พากันถามว่า ดูก่อนผู้มีอายุ เป็นอย่างไรเล่า อินทรีย์ของเธอจึงไม่เหมือนก่อนๆ.

เธอตอบว่า ผู้มีอายุ ผมกระสัน (หมดความยินดีในพระศาสนา).

ภิกษุเหล่านั้นก็นำเธอไปยังสำนักของพระศาสดา.

พระศาสดาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพาภิกษุผู้ไม่ปรารถนามาหรือ?

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ภิกษุรูปนี้ไม่ยินดีเสียแล้ว พระเจ้าข้า.

ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุ จริงหรือที่ว่าเธอไม่ยินดีเสียแล้ว?
ภิกษุนั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นความจริง พระเจ้าข้า.

ตรัสถามว่า ใครทำให้เธอกระสันเล่า? ภิกษุกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์กำลังเที่ยวบิณฑบาต ได้เห็นหญิงคนหนึ่ง ไม่สำรวมจักษุมองดูนาง. ลำดับนั้น กิเลสของข้าพระองค์ก็กำเริบ เหตุนั้น ข้าพระองค์จึงกระสัน พระเจ้าข้า.

พระศาสดาตรัสกะเธอว่า
ดูก่อนภิกษุ การที่เธอทำลายอินทรีย์ มองดูวิสภาคารมณ์ด้วยอำนาจแห่งความงาม กิเลสกำเริบนี้ไม่อัศจรรย์. ในครั้งก่อน แม้พระโพธิสัตว์ทั้งหลายได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ ข่มกิเลสได้แล้วด้วยกำลังฌาน มีจิตบริสุทธิ์ เที่ยวไปในอากาศได้ เมื่อทำลายอินทรีย์ มองดูวิสภาคารมณ์ก็เสื่อมจากฌาน กิเลสกำเริบ เสวยทุกข์อย่างใหญ่หลวง.

ลมมีกำลังถอนภูเขาสิเนรุได้ ที่ไหนจะไม่พัดภูเขาโล้น เพียงเท้าช้างให้ปลิวไป. ลมที่โค่นต้นหว้าใหญ่ ที่ไหนเล่าจะไม่พัดกอไม้อันงอกขึ้นที่ตลิ่งนั้นให้ลอยไปได้.

อนึ่งเล่า ลมที่พัดมหาสมุทรให้แห้งได้ ไฉนเล่าจึงจะไม่พัดน้ำในบ่อน้อย ให้เหือดแห้งไป. กิเลสอันกระทำความไม่รู้แก่พระโพธิสัตว์ผู้มีความรู้สูงส่ง ผู้มีจิตผ่องแผ้วได้ปานนี้ จักยำเกรงอะไรในเธอเล่า. สัตว์แม้นบริสุทธิ์ต้องเศร้าหมอง แม้เพรียบพร้อมด้วยยศอันสูงส่งก็ยังถึงความสิ้นยศได้.

ทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มีสมบัติมากตระกูลหนึ่ง ในแคว้นกาสี บรรลุความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว เรียนจบศิลปะทุกประเภท ละกามเสีย แล้วไปบวชเป็นฤาษี กระทำกสิณบริกรรม ให้อภิญญาสมาบัติเกิดขึ้น แล้วยับยั้งอยู่ด้วยความสุขในฌาน พำนักอาศัยอยู่ในหิมวันตประเทศ.

กาลครั้งหนึ่งท่านเข้ามา ท่านมาจากป่าหิมพานต์ เพื่อบริโภคโภชนะมีรสเค็ม รสเปรี้ยวบ้าง บรรลุถึงกรุงพาราณสี พำนักอยู่ในพระราชอุทยาน. รุ่งขึ้นกระทำสรีรกิจเสร็จแล้ว ครองผ้าเปลือกไม้ ห่มหนังเสือเฉวียงบ่า เกล้าผมเรียบร้อยแล้ว ทรงบริขาร เที่ยวภิกษาจารอยู่ในกรุงพาราณสี ถึงประตูพระราชนิเวศน์.

พระราชาทรงเลื่อมใสในอิริยาบถของท่าน รับสั่งให้นิมนต์มา ให้นั่งเหนืออาสนะอันมีค่ามาก ทรงอังคาสด้วยขาทนียโภชานียาหารอันประณีต. ท่านกระทำอนุโมทนาแล้ว ทรงอาราธนาให้พำนักในพระราชอุทยาน. พระดาบสก็รับพระราชอายาจนการ ฉันในพระราชวัง ถวายโอวาทราชสกุล พำนักอยู่ในพระราชอุทยาน ๑๖ ปี.

อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปปราบปรามปัจจันตชนบทอันกำเริบ ตรัสสั่งพระมเหษีพระนามว่ามุทุลักขณา ว่า เธอจงอย่าประมาท จงปรนนิบัติพระผู้เป็นเจ้า ดังนี้ แล้วเสด็จไป.

พระโพธิสัตว์ ตั้งแต่เวลาที่พระราชาเสด็จไปแล้วก็ไปสู่พระราชวังตามเวลาที่ตนพอใจ. อยู่มาวันหนึ่ง พระนางมุทุลักขณาทรงเตรียมอาหารสำหรับพระโพธิสัตว์เสร็จ ทรงดำริว่า วันนี้ พระคุณเจ้าคงช้า ก็ทรงสรงสนานด้วยพระสุคันโธทก ตกแต่งพระองค์ด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง ให้ลาดพระยี่ภู่น้อย ณ พื้นท้องพระโรง ประทับเอนพระกาย รอพระโพธิสัตว์จะมา. ฝ่ายพระโพธิสัตว์กำหนดเวลาของตนแล้ว ออกจากฌานเหาะไปสู่ พระราชนิเวศน์ทันที.

พระนางมุทุลักขณาทรงสดับเสียงผ้าเปลือกไม้ รับสั่งว่า พระผู้เป็นเจ้ามาแล้ว รีบเสด็จลุกขึ้น. เมื่อพระนางรีบเสด็จลุกขึ้น ผ้าที่ทรงเป็นผ้าเนื้อเกลี้ยงก็หลุดลง. พอดี พระดาบสเข้าทางช่องพระแกล แลเห็นรูปารมณ์อันเป็นวิสภาคของพระเทวี ก็ทำลายอินทรีย์เสีย ตลึงดูด้วยอำนาจความงาม. ทีนั้นกิเลสที่อยู่ภายในของท่าน ก็กำเริบเป็นเหมือนต้นไม้มียางที่ถูกมีดกรีด. ทันใดนั้นเอง ฌานของท่านก็เสื่อม เป็นเหมือนกาปีกหักเสียแล้ว.

พระโพธิสัตว์ยืนตลึง รับอาหารแล้วก็หาบริโภคไม่ เสียวสะท้านไปเพราะกิเลสทั้งหลาย ลงจากปราสาท เดินไปพระราชอุทยาน เข้าบรรณศาลา วางอาหารไว้ใต้ที่นอนอันเป็นกระดานเลียบ. วิสภาคารมณ์ติดตาตรึงใจ ไฟกิเลสแผดเผา ซูบเซียวเพราะขาดอาหาร นอนซมบนกระดานเลียบถึง ๗ วัน.

ในวันที่ ๗ พระราชาทรงปราบปรามปัจจันตชนบท ราบคาบแล้วเสด็จกลับมา ทรงประทักษิณพระนครแล้ว ยังไม่เสด็จไปพระราชนิเวศน์ทีเดียว ทรงพระดำริว่า เราจักพบพระผู้เป็นเจ้าก่อน ดังนี้แล้วเสด็จเลยไปพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นท่านนอน ทรงดำริว่าชะรอยจะเกิดความไม่สำราญสักอย่างหนึ่ง รับสั่งให้ทำความสะอาดบรรณศาลา พลางทรงนวดเฟ้นเท้าทั้งสอง. รับสั่งถามว่า พระผู้เป็นเจ้าไม่สบายไปหรือ?

พระดาบสถวายพระพรว่า มหาบพิตร ความไม่สำราญอย่างอื่นไม่มีแก่อาตมภาพ แต่เพราะอำนาจกิเลส อาตมภาพมีจิตกำหนัดเสียแล้ว.

รับสั่งถามว่า พระคุณเจ้าข้า จิตของพระคุณเจ้าปฏิพัทธ์ในนางคนไหน?

ถวายพระพรว่า จิตของอาตมภาพปฏิพัทธ์ในพระนางมุทุลักขณา.
รับสั่งว่า ดีแล้ว พระคุณเจ้าข้า ข้าพเจ้ายินดีถวายพระนางมุทุลักขณาแด่พระคุณเจ้า. แล้วทรงพาพระดาบสเข้าพระราชนิเวศน์ ให้พระเทวีประดับพระองค์ด้วยเครื่องต้น เครื่องทรง งามสรรพและได้พระราชทานแก่พระดาบส.

แต่เมื่อจะพระราชทานนั้น ได้ทรงพระราชทานสัญญาลับแด่พระนางมุทุลักขณาว่า เธอต้องพยายามป้องกันพระผู้เป็นเจ้าด้วยกำลังของตน. พระนางรับสนองพระราชโองการว่า พะยะค่ะ กระหม่อมฉันจักรักษาตนให้พ้นมือพระคุณเจ้า.

ดาบสก็พาพระเทวีลงจากพระราชนิเวศน์ เวลาที่จะออกพ้นประตูใหญ่. พระนางตรัสกะท่านว่า ท่านเจ้าค่ะ เราควรจะได้เรือน ท่านจงไปกราบทูล ขอพระราชทานเรือนสักหลังหนึ่ง เถิด. ดาบสก็ไปกราบทูลขอพระราชทานเรือน.

พระราชาพระราชทานเรือนร้างหลังหนึ่งซึ่งมนุษย์ใช้เป็นวัจจกุฏิ ท่านก็พาพระเทวีไปที่เรือนนั้น พระนางไม่ทรงประสงค์จะเข้าไป ท่านทูลถามว่า เหตุไร จึงไม่เสด็จเข้าไป?

พระนางรับสั่งว่า เพราะเรือนสกปรก.

พระดาบสทูลถามว่า บัดนี้ เราควรจะทำอย่างไร?

พระนางรับสั่งว่า ต้องทำความสะอาดเรือนนั้น แล้วส่งดาบสไปสู่ราชสำนัก มีพระเสาวนีย์ว่า ท่านจงไปเอาจอบมา เอาตะกร้ามา. ครั้นดาบสนำมาแล้ว ก็ให้โกยสิ่งสกปรกและขยะเอาไปทิ้ง เสร็จแล้วให้ไปขนเอาโคมัยมาฉาบไว้. ครั้นแล้วก็ตรัสว่า ท่านต้องไปขนเตียงมา ขนตั่งมา แล้วให้พระดาบสขนมาทีละอย่าง มิหนำซ้ำยังแกล้งใช้ให้ตักน้ำเป็นต้นอีกด้วย.

พระดาบสเอาหม้อไปตักน้ำมาจนเต็มตุ่ม เตรียมน้ำสำหรับอาบ ปูที่นอน.

ทีนั้น พระนางเทวีทรงจับพระดาบสผู้กำลังนั่งร่วมกันบนที่นอน ที่สีข้าง ฉุดให้ก้มลงมาตรงหน้า พลางตรัสว่า ท่านไม่รู้ตัวว่า เป็นสมณะหรือเป็นพราหมณ์เลยหรือ เจ้าคะ?

พระดาบสกลับได้สติในเวลานั้นเอง. แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ท่านไม่รู้ตัวเอาเสียเลย.

ขึ้นชื่อว่ากิเลสทั้งหลาย กระทำความไม่รู้ตัวได้ถึงอย่างนี้. ในอธิการนี้ ควรกล่าวอ้างพระพุทธพจน์มีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กามฉันทนิวรณ์กระทำให้มืด กระทำให้ไม่รู้ตัว ดังนี้ไว้ด้วย.

พระดาบสกลับได้สติ คิดว่า ตัณหานี้ เมื่อเจริญขึ้นจักไม่ให้เรายกศีรษะขึ้นได้จากอบายทั้ง ๔ เราควรถวายคืนพระนางเทวีนี้แด่พระราชา แล้วกลับเข้าสู่ป่าหิมวันต์ ในวันนี้ทีเดียว ดังนี้.

แล้วพาพระนางเทวีเข้าเฝ้าพระราชา ถวายพระพรว่า ขอถวายพระพร อาตมภาพไม่มีความต้องการพระเทวีของมหาบพิตร เพราะอาศัยพระนางผู้เดียว ตัณหาจึงเจริญแก่อาตมภาพทุกอย่างเลย. แล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า :-

“ครั้งก่อน เรายังไม่ได้ประสบพระนางมุทุลักขณา ความปรารถนามีอย่างเดียว ครั้นได้พบพระนางผู้มีพระเนตรแวววาวเข้าแล้ว ความปรารถนาช่วยให้ความปรารถนาเกิดได้ต่างๆ” ดังนี้.

ในคาถานั้นประมวลอรรถาธิบายได้ดังนี้ :
ขอถวายพระพรมหาบพิตร ครั้งก่อน อาตมภาพยังไม่ได้รับพระราชทานพระเทวีมุทุลักขณาของมหาบพิตรองค์นี้ อาตมภาพมีความปรารถนาอย่างเดียว เกิดความต้องการขึ้นอย่างเดียวเท่านั้นว่า โอหนอ เราพึงได้พระนาง แต่พออาตมภาพได้รับพระราชทานพระนางผู้มีพระเนตรแวววาว มีพระเนตรกว้าง มีดวงพระเนตรงามขำเข้าแล้ว ทีนั้น ความปรารถนาข้อแรกของอาตมา ช่วยให้กำเนิดเกิดความปรารถนาสืบต่อเนื่องขึ้นไป เช่นความปรารถนาเรื่องเรือน ความปรารถนาในเครื่องอุปกรณ์ ความปรารถนาในเครื่องอุปโภคเป็นต้น ก็ความปรารถนาของอาตมานั้นเล่า เมื่อพอกพูนเข้าอย่างนี้จักไม่ยอมให้อาตมภาพยกศีรษะขึ้นได้จากอบาย พอกันทีสำหรับพระนางนี้ที่จะเป็นภรรยาของอาตมภาพ ขอมหาบพิตรจงรับมเหสีของมหาบพิตรคืนไป. ส่วนอาตมภาพจักไปหิมพานต์.

ทันใดนั้นเอง พระดาบสก็ทำฌานที่เสื่อมไปให้เกิดขึ้น นั่งในอากาศแสดงธรรม ถวายโอวาทแด่พระราชา แล้วไปสู่ป่าหิมพานต์ทางอากาศทันที ไม่มาสู่ประเทศที่ชื่อว่าเป็นถิ่นของมนุษย์อีกเลย แต่เจริญพรหมวิหาร ไม่เสื่อมจากฌาน บังเกิดในพรหมโลกแล้ว.

พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม.

เมื่อจบสัจจะ ภิกษุนั้นประดิษฐานในพระอรหัตผล. พระศาสดาทรงสืบต่ออนุสนธิ ประชุมชาดกว่า
พระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระอานนท์ ในครั้งนี้
มุทุลักขณาได้มาเป็น ภิกษุณีอุบลวรรณา
ส่วนฤาษีได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

วัมมิกสูตร : ว่าด้วยปริศนาจอมปลวก

วัมมิกสูตร : ว่าด้วยปริศนาจอมปลวก

กุมารกัสสปะทูลถามปัญหา ๑๕ ข้อ

[๒๙๐] ครั้งนั้นแล ท่านพระกุมารกัสสปะ เมื่อราตรีนั้นล่วงไปแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อคืนนี้ เทวดาองค์หนึ่ง มีวรรณงามยิ่งราตรีล่วงปฐมยามไปแล้ว ยังป่าอันธวันทั้งสิ้นให้สว่างแล้ว เข้าไปหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่ ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กล่าวกะข้าพระองค์ว่า

ดูกรภิกษุ จอมปลวกนี้ พ่นควันในเวลากลางคืน ลุกโพลงในกลางวัน พราหมณ์ได้กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงเอาศาตราขุดดู. สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นลิ่มสลัก จึงเรียนว่า ลิ่มสลัก ขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะเจ้าจงยกลิ่มสลักขึ้น เอาศาตราขุดดู. สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นอึ่ง จึงเรียนว่า อึ่งขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกอึ่งขึ้น เอาศาตราขุดดู. สุเมธะเอาศาตราขุดลงไปได้เห็นทาง ๒ แพร่ง จึงเรียนว่า ทาง ๒ แพร่ง ขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะเจ้าจงก่นทาง ๒ แพร่งเสีย เอาศาตราขุดดู. สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นหม้อกรองน้ำด่างจึงเรียนว่า หม้อกรองน้ำด่าง ขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกหม้อกรองน้ำด่างขึ้น เอาศาตราขุดดู. สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นเต่า จึงเรียนว่า เต่าขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกเต่าขึ้น เอาศาตราขุดดู. สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นเขียงหั่นเนื้อ จึงเรียนว่า เขียงหั่นเนื้อ ขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะเจ้าจงยกเขียงหั่นเนื้อขึ้น เอาศาตราขุดดู. สุเมธะเอาศาตราขุดลงไปได้เห็นชิ้นเนื้อ จึงเรียนว่าชิ้นเนื้อ ขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกชิ้นเนื้อขึ้น เอาศาตราขุดดู.สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นนาค จึงเรียนว่า นาคขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า นาคจงอยู่เถิด เจ้าจงอย่าเบียดเบียนนาคเลย จงทำความนอบน้อมต่อนาค.

ดูกรภิกษุ ท่านพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลถามปัญหา ๑๕ ข้อเหล่านี้แล ท่านพึงทรงจำปัญหาเหล่านั้นตามที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์. ดูกรภิกษุ ข้าพเจ้า ย่อมไม่เห็นบุคคลในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลกพรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ที่จะยังจิตให้ยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้ นอกจากพระตถาคต หรือสาวกของพระตถาคต หรือเพราะฟังจากสำนักนี้. เทวดานั้น ครั้นกล่าวคำนี้แล้วได้หายไปในที่นั้นแล.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแลชื่อว่า จอมปลวก อย่างไรชื่อว่าพ่นควันในกลางคืน อย่างไรชื่อว่าลุกโพลงในกลางวัน อะไรชื่อว่าพราหมณ์ อะไรชื่อว่าสุเมธะ อะไรชื่อว่าศาตรา อย่างไรชื่อว่าการขุด อะไรชื่อว่าลิ่มสลัก อะไรชื่อว่าอึ่ง อะไรชื่อว่าทาง ๒ แพร่ง อะไรชื่อว่า หม้อกรองน้ำด่าง อะไรชื่อว่าเต่า อะไรชื่อว่าเขียงหั่นเนื้อ อะไรชื่อว่าชิ้นเนื้อ อะไรชื่อว่านาค ดังนี้?

พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ปัญหา ๑๕ ข้อ

[๒๙๑] พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า

ดูกรภิกษุ คำว่า จอมปลวกนั่นเป็นชื่อของกายนี้ อันประกอบด้วยมหาภูตรูปทั้ง ๔ ซึ่งมีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญด้วยข้าวสุกและขนมกุมมาส ไม่เที่ยง ต้องอบรม ต้องนวดฟั้น มีอันทำลายและกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา.

ปัญหาข้อว่า อย่างไรชื่อว่าพ่นควันในกลางคืนนั้น ดูกรภิกษุ ได้แก่การที่บุคคลปรารภการงานในกลางวัน แล้วตรึกถึง ตรองถึงในกลางคืน นี้ชื่อว่าพ่นควันในกลางคืน.

ปัญหาข้อว่า อย่างไรชื่อว่าลุกโพลงในกลางวันนั้น ดูกรภิกษุ ได้แก่การที่บุคคลตรึกถึงตรองถึง (การงาน) ในกลางคืน แล้วย่อมประกอบการงานในกลางวัน ด้วยกาย ด้วยวาจา นี้ชื่อว่าลุกโพลงในกลางวัน.

ดูกรภิกษุ คำว่า พราหมณ์นั้น เป็นชื่อของพระตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.

คำว่า สุเมธะ นั้น เป็นชื่อของเสขภิกษุ.

คำว่า ศาตรานั้นเป็นชื่อของปัญญาอันประเสริฐ.

คำว่า จงขุดนั้นเป็นชื่อของการปรารภความเพียร.

คำว่า ลิ่มสลักนั้น เป็นชื่อของอวิชชา.

คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า

พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ ปัญญาเพียงดั่งศาตรา ยกลิ่มสลักขึ้น คือจงละอวิชชาเสีย จงขุดมันขึ้นเสีย.

คำว่า อึ่งนั้น เป็นชื่อแห่งความคับแค้นด้วยสามารถความโกรธ. คำนั้นมีอธิบาย ดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดั่งศาตรา ยกอึ่งขึ้นเสีย คือจงละความคับแค้นด้วยสามารถความโกรธเสีย จงขุดมันเสีย.

คำว่า ทาง ๒ แพร่งนั้น เป็นชื่อแห่งวิจิกิจฉา. คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา ก่นทาง ๒ แพร่งเสีย คือจงละวิจิกิจฉาเสีย จงขุดมัน เสีย

คำว่าหม้อกรองน้ำด่างนั้น เป็นชื่อของนิวรณ์ ๕ คือ กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์. คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา ยกหม้อกรองน้ำด่างขึ้นเสีย คือจงละนิวรณ์ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย.

คำว่าเต่านั้น เป็นชื่อของอุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์. คำนั้นมีอธิบายดังนี้ พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา ยกเต่าขึ้นเสียคือ จงละอุปาทานขันธ์ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย.

คำว่าเขียงหั่นเนื้อนั้น เป็นชื่อของกามคุณ ๕ คือ รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นรูปที่น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เสียงอันจะพึงรู้แจ้งด้วยโสตกลิ่นอันจะพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ … รสอันจะพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา … โผฏฐัพพะอันจะพึงรู้แจ้งด้วยกายน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นรูปที่น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด. คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา ยกเขียงหั่นเนื้อเสีย คือ จงละกามคุณ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย.

คำว่าชิ้นเนื้อนั้น เป็นชื่อของนันทิราคะ. คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา ยกชิ้นเนื้อขึ้นเสีย คือ จงละนันทิราคะ จงขุดขึ้นเสีย

คำว่านาคนั้น เป็นชื่อของภิกษุผู้ขีณาสพ คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า นาคจงหยุดอยู่เถิด เจ้าอย่าเบียดเบียนนาค จงทำความนอบน้อมต่อนาคดังนี้.

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระกุมารกัสสปะมีใจชื่นชม เพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
โอปัมมวรรค
วัมมิกสูตร
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ฟังธรรมบรรยาย วัมมิกสูตร หลวงพ่อประจาก สิริวณฺโณ และ ดาวน์โหลดหนังสือ “วัมมิกสูตร ปริศนาแห่งจอมปลวก” โดย.. พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ)

คลิกที่นี่ >>>> วัมมิกสูตร

 

รู้จักพระไตรปิฎก ให้ชัด ให้ตรง

หนังสือ “รู้จักพระไตรปิฎก ให้ชัด ให้ตรง”
พระพรหมคุณาภรณ์

ดาวน์โหลดหนังสือ คลิกที่นี่ => รู้จักพระไตรปิฎก ให้ชัด ให้ตรง  

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ปรารภ

หนังสือนี้ถือว่าเขียนพอเสร็จให้อ่านไปพลางก่อน เพราะเรื่องที่ปรารภเกิดขึ้นนานแล้วจึงทราบ ควรเร่งให้ความรู้กันไปขั้นหนึ่งก่อนไม่ให้เป็นความประมาท เมื่อใดทราบเรื่องราวที่เป็นไปละเอียดขึ้น ถ้าเวลาอำนวยและร่างกายยังไหว อาจจะได้ต่อได้เติม

เรื่องราวจำพวกปัญหาที่เกิดทยอยมาระยะนี้ แสดงชัดถึงสภาพของพุทธบริษัท ที่คนไทยเหินห่างจากเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา ขาดความรู้หลักธรรมวินัย ไม่รู้จักคำพระคำวัดที่พูดจาคุ้นกันมาจนกลายเป็นคำพูดสามัญในสังคมไทย มีแต่ความเข้าใจผิดพลาดเพี้ยนกันไป เมื่อมีเรื่องจำพวกปัญหาเกิดขึ้น ถ้าไม่ถึงกับหลงไปตามเขา ก็มองไม่ออก ตัดสินไม่ได้

จำเป็นต้องรีบตื่นกันขึ้นมา ข้อสำคัญที่สุดอยู่ที่ต้องหาต้องให้ความรู้เข้าใจที่ถูกต้อง คือต้องศึกษา เมื่อรู้เข้าใจเพียงพอแล้ว มีอะไรเกิดขึ้นมา ก็สามารถพิจารณา มองออกและบอกได้ทันที

หนังสือ รู้จักพระไตรปิฎก ให้ชัด ให้ตรง นี้ มิใช่จะตอบโต้ใครแต่มุ่งรักษาประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ อย่างน้อยให้ปลอดพ้นความรู้ผิดเข้าใจพลาดที่เป็นภัยสำคัญ หลายอย่างคงจะยากสักหน่อย แต่ว่าด้วยเรื่องที่จำ เป็นต้องรู้ เพื่อมีคุณสมบัติสมกับที่ได้นับถือพระพุทธศาสนา จึงพึงอดทนศึกษา เหมือนเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นพุทธศาสนิกชน

ผู้เขียน (พระพรหมคุณาภรณ์)
๑๒ มีนาคม ๒๕๕๘
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

อวิชชาสูตร

อวิชชาสูตร

[๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นแห่งอวิชชาย่อมไม่ปรากฏในกาลก่อน แต่นี้อวิชชาไม่มี แต่ภายหลังจึงมี เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวคำนี้อย่างนี้ว่า ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น อวิชชามีข้อนี้เป็นปัจจัยจึงปรากฏ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เราย่อมกล่าวอวิชชาว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของอวิชชา ควรจะกล่าวว่านิวรณ์ ๕

แม้นิวรณ์ ๕ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของนิวรณ์ ๕ ควรกล่าวว่า ทุจริต ๓

แม้ทุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของทุจริต ๓ ควรกล่าวว่า การไม่สำรวมอินทรีย์

แม้การไม่สำรวมอินทรีย์เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารแห่งการไม่สำรวมอินทรีย์ ควรกล่าวว่าความไม่มีสติสัมปชัญญะ

แม้ความไม่มีสติสัมปชัญญะเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่าการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย

แม้การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ควรกล่าวว่าความไม่มีศรัทธา

แม้ความไม่มีศรัทธาเราก็กล่าวว่ามีอาหารมิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีศรัทธา ควรกล่าวว่า การไม่ฟังสัทธรรม

แม้การไม่ฟังสัทธรรมเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหารก็อะไรเป็นอาหารของการไม่ฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่า การไม่คบสัปบุรุษ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้ การไม่คบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่ฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การไม่ฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีศรัทธาให้บริบูรณ์ ความไม่มีศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายให้บริบูรณ์ การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ ความไม่มีสติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่สำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์ การไม่สำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังทุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ ทุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังนิวรณ์ ๕ ให้บริบูรณ์ นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังอวิชชาให้บริบูรณ์ อวิชชานี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดหยาบตกลงเบื้องบนภูเขาเมื่อฝนตกหนักๆ อยู่ น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขา ลำธารและห้วยให้เต็ม ซอกเขา ลำธารและห้วยที่เต็ม ย่อมยังหนองให้เต็ม หนองที่เต็มย่อม ยังบึงให้เต็ม บึงที่เต็มย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม แม่น้ำน้อยที่เต็มย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่ที่เต็มย่อมยังมหาสมุทรสาครให้เต็ม มหาสมุทรสาครนั้น มีอาหารอย่างนี้ และเต็มเปี่ยมอย่างนี้

แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไม่คบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่ฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การไม่ฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีศรัทธาให้บริบูรณ์ ความไม่มีศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายให้บริบูรณ์ การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ ความไม่มีสติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่สำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์ การไม่สำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังทุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ ทุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังนิวรณ์ ๕ ให้บริบูรณ์ นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังอวิชชาให้บริบูรณ์ อวิชชานี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฉันนั้น เหมือนกันแล ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เรากล่าววิชชาและวิมุตติว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของวิชชาและวิมุตติ ควรกล่าวว่า โพชฌงค์ ๗

แม้โพชฌงค์ ๗ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของโพชฌงค์ ๗ ควรกล่าวว่า สติปัฏฐาน ๔

แม้สติปัฏฐาน ๔ เราก็กล่าวว่ามีอาหารมิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสติปัฏฐาน ๔ ควรกล่าวว่า สุจริต ๓

แม้สุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสุจริต ๓ ควรกล่าวว่า การสำรวมอินทรีย์

แม้การสำรวมอินทรีย์เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการสำรวมอินทรีย์ ควรกล่าวว่า สติสัมปชัญญะ

แม้สติสัมปชัญญะเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ

ควรกล่าวว่า การทำไว้ในใจโดยแยบคาย แม้การทำไว้ในใจโดยแยบคายเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ควรกล่าวว่าศรัทธา

แม้ศรัทธาเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของศรัทธา ควรกล่าวว่า การฟังสัทธรรม

แม้การฟังสัทธรรมเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่า การคบสัปบุรุษ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้ การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังศรัทธาให้บริบูรณ์ ศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์ การทำไว้ในใจโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์ การสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ วิชชาและวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดหยาบตกลงเบื้องบนภูเขาเมื่อฝนตกหนักๆ อยู่ น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขา ลำธารและห้วยให้เต็ม ซอกเขา ลำธารและห้วยที่เต็มย่อมยังหนองให้เต็ม หนองที่เต็มย่อมยังบึงให้เต็ม บึงที่เต็มย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม แม่น้ำน้อยที่เต็ม ย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่ที่เต็ม ย่อมยังมหาสมุทรสาครให้เต็ม มหาสมุทรสาครนั้นมีอาหารอย่างนี้ และเต็มเปี่ยมอย่างนี้

แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังศรัทธาให้บริบูรณ์ ศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์ การทำไว้ในใจโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์ การสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ วิชชาและวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ

จากอวิชชาสูตร
อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต
ทุติยปัณณาสก์ ยมกวรรค
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

อุปสิงฆปุปผกชาดก : ว่าด้วยคนดีไม่ควรทำชั่วแม้นิดหน่อย

อุปสิงฆปุปผกชาดก
ว่าด้วยคนดีไม่ควรทำชั่วแม้นิดหน่อย

๐ การที่ท่านเข้าไปสูดดมกลิ่นดอกบัวที่เขายังมิได้ให้ นี้เป็นส่วนแห่งการขโมยอย่างหนึ่ง ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ ท่านชื่อว่า เป็นผู้ขโมยกลิ่น.

๐ เราไม่ได้นำเอาไป ไม่ได้บริโภค เรายืนดมดอกบัวอยู่ในที่ไกล เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไฉน ท่านจึงกล่าวว่า เราเป็นผู้ขโมยกลิ่นดอกบัวเล่า?

๐ บุรุษใด มาขุดเหง้าบัวทั้งหลาย เด็ดเอาดอกบัวไป เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ว่ากล่าวบุรุษนั้น ผู้ทำกรรมหยาบช้าอย่างนี้เล่า?

๐ บุรุษผู้หยาบช้า โหดร้าย แปดเปื้อนไปด้วยบาป เหมือนผ้านุ่งของแม่นม ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ว่ากล่าวบุรุษนั้น แต่ข้าพเจ้าปรารถนาจะว่ากล่าวท่าน ผู้ทำกรรมไม่สมควร.

๐ บาปเพียงเท่าปลายขนทราย ย่อมปรากฏแก่บุรุษผู้ไม่มีโทษเหมือนท่านแสวงหาความสะอาดอยู่เป็นนิตย์ เหมือนเท่ามหาเมฆ ฉะนั้น.

๐ ดูกรเทวดา ท่านรู้จักเรา และอนุเคราะห์เราโดยแท้ ท่านเห็นโทษเช่นนี้ของเรา เมื่อใด ขอท่านจงตักเตือนเราแม้อีก เมื่อนั้น.

๐ ข้าพเจ้าไม่ได้อาศัยท่านเลี้ยงชีพ และไม่เป็นลูกจ้างของท่าน ดูกรภิกษุ ท่านนั้นแล พึงรู้การกระทำอันเป็นเหตุให้ไปสู่สุคติ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๙
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
ปัญจกนิบาตชาดก ขุรปุตตวรรค
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ข้อความบางส่วนจาก อรรถกถาอุปสิงฆปุปผกชาดก

นอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ที่หมู่บ้านในแคว้นกาสี ตำบลหนึ่ง เติบโตแล้วได้เรียนศิลปะในเมืองตักกสิลา ต่อมาได้บวชเป็นฤๅษี เข้าไปอาศัยสระบัวแห่งหนึ่งอยู่ วันหนึ่งลงไปสระนั้น ได้ยืนดมดอกบัวที่บานงดงาม.

ครั้งนั้น เทพธิดาตนหนึ่งสถิตอยู่ที่ลำต้นต้นไม้ เมื่อจะให้ท่านสลดใจ จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-

ดูก่อนท่านผู้เช่นกับด้วยเรา ท่านดมดอกไม้ที่เกิดในน้ำ ดอกบัวที่เขาไม่ได้ให้นี้ใด การดมนี้นั้นเป็นองค์ๆ หนึ่งของการขโมย ท่านเป็นผู้ขโมยกลิ่น.

ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์ จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-

เราไม่ลัก เราไม่เด็ดดอกบัว แต่เรายืนดมอยู่ไกลๆ เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไรหนอ? จึงกล่าวหาว่าเราเป็นผู้ขโมยกลิ่น.

ขณะนั้น ชายคนหนึ่งขุดเหง้าบัวและเด็ดดอกบุณฑริกในสระนั้น พระโพธิสัตว์เห็นเขาแล้ว เมื่อจะเจรจากับเทพธิดานั้นว่า ท่านกล่าวหาเราผู้ยืนดมอยู่แต่ไกลว่าเป็นโจร แต่เหตุไร จึงไม่ว่าชายคนนั้น? จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-

ชายคนนี้ใด ขุดเหง้าบัว เด็ดดอกบุณฑริก ชายคนนี้นั้น ผู้มีการงานเลอะเทอะอย่างนี้ แต่เหตุไรจึงไม่มีใครว่า?

ลำดับนั้น เทวดา เมื่อจะบอกเหตุแห่งการพูดแก่พระโพธิสัตว์นั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ที่ ๕ ว่า :-

ชายผู้มีกรรมหยาบดาดดื่นแล้ว เปรอะเปื้อนบาป เหมือนผ้าอ้อม ข้าพเจ้าจึงไม่มีคำพูดอะไรในเรื่องนั้น แล้วข้าพเจ้าควรเพื่อจะว่ากล่าวเขาได้

สำหรับคนผู้ไม่มีกิเลสดุจเนิน มีปกติแสวงหาความสะอาดเป็นนิจ บาปประมาณเท่าปลายขนทราย จะปรากฏแก่เขาประมาณเท่ากลีบเมฆทีเดียว.

คนนี้จะเป็นผู้เปื้อนไปด้วยบาปทีเดียว เหมือนกับผ้านุ่งของพี่เลี้ยงที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก มูตรและคูถ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่มีการว่าอะไรในเรื่องนั้น.

แต่สมณะทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รักเป็นผู้ใคร่ต่อโอวาท ข้าแต่สมณะ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงควรเพื่อจะว่ากล่าวเขาผู้ทำสิ่งที่ไม่สมควรแม้มีประมาณน้อย.

บาปจะปรากฏเป็นสิ่งมีประมาณเท่าเมฆก้อนใหญ่ บัดนี้ เหตุไฉนท่านจึงจะทำโทษแบบนี้ให้เป็นอัพโภหาริก เป็นเหมือนไม่มีโทษไป.

ส่วนพระโพธิสัตว์ผู้ถูกเทวดาให้สลดใจ ได้ถึงความสังเวชแล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๖ ว่า :-

ข้าแต่ท่านผู้ควรบูชายักษ์ ท่านรู้จักข้าพเจ้าแน่นอน และท่านอนุเคราะห์ข้าพเจ้า ข้าแต่ท่านผู้ควรบูชายักษ์ ท่านจงตำหนิอีก เมื่อท่านเห็นโทษชนิดนี้ของเรา. (พระโพธิสัตว์ร้องเรียกเทวดาว่ายักษ์)

พระโพธิสัตว์กล่าวว่า เมื่อใดท่านเห็นโทษแบบนี้ของข้าพเจ้า เมื่อนั้นท่านพึงว่ากล่าวอย่างนี้ทีเดียว.

ลำดับนั้น เทพธิดาจึงกล่าวคาถาที่ ๗ แก่พระโพธิสัตว์ว่า :-

ข้าพเจ้าไม่ได้อาศัยสิ่งนั้นเลี้ยงชีพเลย ทั้งเราไม่ได้เป็นลูกจ้างท่าน ข้าแต่ภิกษุ ตัวท่านเองควรรู้กรรมที่เป็นเหตุให้ไปสุคติ.

เทพธิดาแสดงว่าข้าพเจ้าไม่เป็นลูกจ้างของท่าน คือไม่เป็นแม้ผู้ทำงานเพื่อสินจ้างของท่าน ข้าพเจ้าจักเทียวพิทักษ์รักษาท่านทุกเวลาด้วยเหตุอะไร?

ข้าแต่ภิกษุ ท่านจะพึงไปสู่สุคติด้วยกรรมอันใด ท่านนั่นแหละพึงรู้.

เทวดา ครั้นให้โอวาทแก่พระโพธิสัตว์อย่างนี้แล้ว ก็กลับเข้าสู่วิมานของตน.
ฝ่ายพระโพธิสัตว์ยังฌานให้เกิด แล้วได้เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรมทั้งหลาย แล้วทรงประชุมชาดกไว้ ในที่สุดแห่งสัจธรรม ภิกษุนั้นดำรงอยู่แล้วในโสดาปัตติผล.

เทพธิดาในครั้งนั้น ได้แก่ พระอุบลวรรณาเถรี ในบัดนี้
ส่วนดาบสได้แก่ เราตถาคต ฉะนี้แล.

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ปัญจวัคคิยสูตร : ว่าด้วยลักษณะแห่งอนัตตา

ปัญจวัคคิยสูตร : ว่าด้วยลักษณะแห่งอนัตตา

[๑๒๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุเบญจวัคคีย์ ฯลฯ แล้วตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปมิใช่ตัวตน. ก็หากว่ารูปนี้จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ รูปนี้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในรูปว่า ขอรูปของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

ก็เพราะเหตุที่รูปมิใช่ตัวตน ฉะนั้นรูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนาในรูปว่า ขอรูปของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา มิใช่ตัวตน. ก็หากเวทนานี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในเวทนาว่า ขอเวทนาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

ก็เพราะเหตุที่เวทนามิใช่ตัวตน ฉะนั้น เวทนาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนาในเวทนาว่า ขอเวทนาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญามิใช่ตัวตน. ก็หากสัญญานี้จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในสัญญาว่า ขอสัญญาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

ก็เพราะเหตุที่สัญญามิใช่ตัวตน ฉะนั้น สัญญาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนาในสัญญาว่า ขอสัญญาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารมิใช่ตัวตน. ก็หากสังขารนี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในสังขารว่า ขอสังขารของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

ก็เพราะเหตุที่สังขารมิใช่ตัวตน ฉะนั้น สังขารจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนาในสังขารว่า ขอสังขารของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณมิใช่ตัวตน ก็หากวิญญาณนี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในวิญญาณว่า ขอวิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

ก็เพราะเหตุที่วิญญาณมิใช่ตัวตน ฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนาในวิญญาณว่า ขอวิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

[๑๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง?
ภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นตัวตนของเรา?
ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุขเล่า?
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นตัวตนของเรา?
ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

[๑๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ

รูปอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งที่อยู่ ในที่ไกลหรือใกล้ รูปทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.

เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้ เวทนาทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั้นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.

สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และ ปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้ สัญญาทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.

สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้ สังขารทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.

วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีตอนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้ วิญญาณทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.

[๑๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัดเพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น. เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว. รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสอนัตตลักขณสูตรนี้ จบลงแล้ว ภิกษุเบญจวัคคีย์ต่างมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ก็แหละเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ภิกษุเบญจวัคคีย์ ก็มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น.

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗
สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
ขันธสังยุตต์ มัชฌิมปัณณาสก์
อุปายวรรค
ปัญจวัคคิยสูตร [อนัตตลักขณสูตร]

อรรถกถา เอตทัคคบาลี (อรรถกถาสูตรที่ ๑๒):กีสาโคตมี : แม่ผู้ต้องการชุบชีวิตลูก

กีสาโคตมี : แม่ผู้ต้องการชุบชีวิตลูก

ด้วยบทว่า ลูขจีวรธรานํ ท่านแสดงไว้ว่า นางกีสาโคตมีเป็นยอดของเหล่าภิกษุณีสาวิกาผู้ทรงผ้าบังสุกุลอันประกอบด้วยความเศร้าหมองดังนี้.

นางมีชื่อว่า โคตมี แต่เขาเรียกกันว่า กีสาโคตมี เพราะเป็นผู้ค่อนข้างจะผอมไปนิดหน่อย.

แม้นางนี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ บังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น. นางเวียนว่ายไปในเทวดาและมนุษย์ตลอดแสนกัป

ในพุทธุปบาทกาลนี้บังเกิดในสกุลคนเข็ญใจ กรุงสาวัตถี เวลาเจริญวัยแล้วก็ไปสู่การครองเรือน. พวกชนในสกุลนั้นดูหมิ่นนางว่า เป็นธิดาของสกุลคนเข็ญใจ. ต่อมา นางได้คลอดบุตรคนหนึ่ง. ทีนั้น ชนทั้งหลายจึงได้ทำความยกย่องนาง. ก็บุตรของนางตั้งอยู่ในวัยพอจะวิ่งไปวิ่งมาเล่นได้ก็มาตายเสีย ความเศร้าโศกก็ได้เกิดขึ้นแก่นาง. นางคิดว่า เราขาดลาภและสักการะในเรือนนี้แล้ว นับแต่เวลาที่บุตรเกิดมาจึงได้สักการะ ชนเหล่านี้จึงพยายามแม้เพื่อจะทิ้งบุตรของเราไว้ข้างนอก ดังนี้ จึงอุ้มบุตรใส่สะเอวเที่ยวเดินไปตามลำดับประตูเรือนด้วยพูดว่า ขอพวกท่านจงให้ยาแก่บุตรของเราด้วยเถิด ดังนี้.

พวกมนุษย์ในที่ที่พบแล้วๆ ต่างดีดนิ้วมือกระทำการเย้ยหยันว่า ยาสำหรับคนตายแล้วท่านเคยเห็นที่ไหนบ้าง. นางมิได้เข้าใจความหมายแห่งคำพูดของพวกเขาเลย.

ลำดับนั้น คนฉลาดคนหนึ่งเห็นนางแล้วคิดว่า นางนี้จักต้องมีจิตฟุ้งซ่าน (บ้า) เพราะความเศร้าโศกถึงบุตร แต่ยาสำหรับบุตรของนางนั้นคนอื่นหารู้ไม่. พระทศพลเท่านั้นจักทรงทราบ ดังนี้แล้วจึงกล่าวอย่างนี้ว่า แม่เอ๋ย ยาสำหรับบุตรของเธอคนอื่นที่จะรู้หามีไม่. พระทศพลผู้เป็นยอดบุคคลในโลก พร้อมทั้งเทวโลกประทับอยู่ในวิหารใกล้ๆ นี่เอง ขอเธอจงไปทูลถามดูเถิด.

นางคิดว่า คนผู้นี้พูดจริง จึงอุ้มบุตรไปยืนอยู่ในตอนท้ายบริษัท ในเวลาที่พระตถาคตประทับนั่งบนพุทธอาสน์ แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์โปรดประทานยาแก่บุตรของข้าพระองค์ด้วยเถิด ดังนี้.

พระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยของนางแล้วตรัสว่า ดูก่อนโคตมี เธอมาที่นี้เพื่อต้องการยานับว่าทำดีมาก เธอจงเข้าไปยังนคร เดินเที่ยวไปตลอดนครนับแต่ท้ายบ้านไป ในเรือนใดไม่เคยมีคนตาย จงนำเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากเรือนนั้นมาดังนี้.

นางทูลว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า ดังนี้มีใจยินดีเข้าไปภายในนคร พอถึงเรือนแรกทีเดียวก็พูดว่า พระทศพลทรงมีรับสั่งให้หาเมล็ดพันธุ์ผักกาดมา เพื่อประโยชน์ใช้เป็นยาแก่ลูกของเรา ขอพวกท่านจงให้เมล็ดพันธุ์ผักกาดแก่เราเถิด ดังนี้.

๐ พวกคนทั้งหลายต่างได้นำมาให้นางด้วยพูดว่า เชิญเถิดโคตมี.
๐ โคตมี. ดิฉันยังไม่อาจรับไว้ได้โดยทำนองนี้ ในเรือนนี้ชื่อว่าไม่เคยมีคนตายหรือ.
๐ ชาวบ้าน. ดูก่อนนางโคตมี เธอพูดอะไร ใครจะอาจนับคนที่ตายแล้วในเรือนนี้ได้เล่า.
๐ โคตมี. ถ้ากระนั้น พอที พระทศพลทรงรับสั่งให้ข้าพเจ้ารับเมล็ดพันธุ์ผักกาดนั้นจากเรือนที่ไม่เคยมีคนตาย.

นางเดินไปเรือนหลังที่ ๓ โดยทำนองนี้นี่แหละแล้วคิดได้ว่า ในนครทั้งสิ้นก็จักมีทำนองนี้เหมือนกัน พระพุทธเจ้าผู้ทรงอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูลจักทรงเห็นเหตุนี้แล้วดังนี้ ได้ความสังเวชใจ ออกไปภายนอกนครนั้นทีเดียว ไปยังป่าช้าผีดิบเอามือจับบุตรแล้วพูดว่า แน่ะลูกน้อย แม่คิดว่า ความตายนี้เกิดขึ้นแก่เจ้าเท่านั้น แต่ว่าความตายนี้ไม่มีแก่เจ้าคนเดียว นี่เป็นธรรมดามีแก่มหาชนทั่วไป ดังนี้แล้ว จึงทิ้งลูกในป่าช้าผีดิบ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
แล้วกล่าวคาถานี้ว่า :-
“น คามธมฺโม โน นิคมสฺส ธมฺโม น จาปิยํ เอกกุลสฺส ธมฺโม สพฺพสฺส โลกสฺส สเทวกสฺส เอเสว ธมฺโม ยทิทํ อนิจฺจตา.”

“ธรรมนี้นี่แหละคือความไม่เที่ยง มิใช่ธรรมของชาวบ้าน มิใช่ธรรมของนิคม ทั้งมิใช่ธรรมสกุลเดียวด้วย แต่เป็นธรรมของโลกทั้งหมด พร้อมทั้ง เทวโลก.”
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ก็แหละครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว นางได้ไปยังสำนักของพระศาสดา.

ทีนั้น พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนโคตมี เธอได้เมล็ดพันธุ์ผักกาดแล้วหรือ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่มีการที่จะใช้เมล็ดพันธุ์ผักกาดแล้ว แต่ขอพระองค์จงประทานที่พึ่งแก่ข้าพระองค์เถิด.
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสคาถาในธรรมบทแก่นางว่า :-
“ตํ ปุตฺตปสุสมฺมตตํ พฺยาสตฺตมนสํ นรํ สุตฺตํ คามํ มโหโฆว มจฺจุ อาทาย คจฺฉติ.”

“มฤตยูย่อมพาเอานรชน ผู้มัวเมาในลูกและสัตว์เลี้ยง ผู้มีใจข้องอยู่ในอารมณ์ต่างๆ ไป เหมือนห้วงน้ำใหญ่ พัดพาเอาชาวบ้านที่หลับไหลอยู่ไปฉะนั้น.”
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

จบพระคาถานางทั้งที่ยืนอยู่นั่นเอง ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ทูลขอบรรพชาแล้ว.

พระศาสดาทรงอนุญาตการบรรพชาให้. นางทำประทักษิณพระศาสดา ๓ ครั้ง ถวายบังคมแล้วไปยังสำนักภิกษุณี ได้บรรพชาและอุปสมบทแล้ว ไม่นานนักกระทำกรรมในโยนิโสมนสิการ เจริญวิปัสสนา

ลำดับนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระคาถาพร้อมด้วยเปล่งโอภาส [รัศมี] แก่นางว่า :-
“โย จ วสฺสสตํ ชีเว อปสฺสํ อมตํ ปทํ เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปสฺสโต อมตํ ปทํ”
“ก็ผู้ใดไม่เห็นอมตบท พึงมีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี ชีวิตของผู้เห็นอมตบทเพียงวันเดียว ยังประเสริฐกว่าดังนี้.”

จบพระคาถา นางก็บรรลุอรหัต เป็นผู้เคร่งครัดยิ่งในการใช้สอยบริขาร ห่มจีวรประกอบด้วยความปอน ๓ อย่างเที่ยวไป.

ต่อมา พระศาสดาประทับนั่งในพระเชตวัน เมื่อทรงสถาปนาเหล่าภิกษุณีไว้ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระเถรีนี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาผู้ทรงจีวรเศร้าหมองแล.

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

จากอรรถกถา อังคุตตรนิกาย
เอกนิบาต เอตทัคคบาลี

(อรรถกถาสูตรที่ ๑๒)