ข้อคิดเกี่ยวกับวิปัสสนา อ.เรณู

ธรรมบรรยาย
เรื่อง ข้อคิดเกี่ยวกับวิปัสสนา
ท่านอาจารย์เรณู ทัศณรงค์ เขียนในโอกาสครบรอบ ๔ ปี ของสำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดพระนารายณ์มหาราช นครราชสีมา เมื่อวันที่ ๑๑-๑๒ กันยายน ๒๕๐๙

จากหนังสือ ธรรมบรรยาย อาจารย์เรณู ทัศณรงค์
จัดพิมพ์ ในโอกาสครบรอบอายุ ๗๔ ปี วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๕

ข้อคิดเกี่ยวกับวิปัสสนา
ในโอกาสนี้ เพื่อเป็นการร่วมมือร่วมใจกัน ในฐานะเป็นศิษย์วิปัสสนากรรมฐาน จึงขอนำบทความเกี่ยวกับวิปัสสนา ตามที่มีผู้สนใจเคยสอบถามอยู่บ่อยๆ มาเสนอตามความรู้สึก และพอเป็นที่เข้าใจแก่ท่านผู้อ่านทุกท่าน ถ้าหากมีการผิดพลาดบกพร่องแต่ประการใด ผู้เขียนขอกราบขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย ส่วนใดที่เป็นความดีเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่าน โปรดนำไปพิจารณาประพฤติปฏิบัติตามในโอกาสต่อไป

คำว่า วิปัสสนากรรมฐาน ในความรู้สึกของบุคคลส่วนมากยังไม่เข้าใจ ว่าการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานคืออะไร? ใครเป็นผู้ริเริ่ม มาจากไหน บางท่านก็พอจะเข้าใจอยู่บ้าง แต่คิดว่ายังไม่จำเป็น เพราะเห็นว่าเป็นการปฏิบัติธรรมในขั้นสูงเกินไป เหมาะกับบุคคลบางประเภทบางวัยเท่านั้น บางท่านเห็นว่าเป็นการลำบากขัดข้องกับอาชีพการงานที่มีอยู่ ยังไม่มีเวลาจะปลีกตัวมาปฏิบัติได้ บางท่านก็เห็นว่าผู้ปฏิบัติวิปัสสนาเอาตัวรอด ตัดช่องน้อยแต่พอตัว ไม่ห่วงภาระครอบครัว ทำให้เป็นคนหย่อนความสามารถการงานในทางโลก เป็นคนล้าสมัย หัวโบราณคร่ำครึในสังคมปัจจุบันนี้ สรุปแล้วเป็นความเห็นที่ยังไม่ตรงทาง ยังไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง

วิปัสสนากรรมฐานคืออะไร
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน คือ การฝึกจิต อบรมจิต ให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามสภาวธรรม ตามสภาพธรรมชาติ ทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ทำลายอุปทาน คือความยึดมั่นถือมั่น ออกจากใจตามทางที่สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงวางไว้ในพุทธศาสนา ได้แก่ มหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ หรือการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานก็อันเดียวกัน

ธุระในพระศาสนา
ธุระในพระศาสนาอันเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัท ๔ จะพึงปฏิบัติตามมีหลักฐานปรากฏในธรรมบท ขุททกนิกาย ภาค ๒ สมเด็จพระศาสดาได้ทรงชี้แจงธุระในพระศาสนาแก่มหากาลซึ่งเข้ามาอุปสมบทในพุทธศาสนาความว่า ธุระในพุทธศานานี้มี ๒ คือ คันถธุระ และวิปัสสนาธุระ

คันถธุระ คือการศึกษาเล่าเรียนพุทธพจน์ จนจบพระไตรปิฎก มีความชำนาญแตกฉานจดจำไปเทศน์สอนได้

วิปัสสนาธุระ คือการลงมือประพฤติปฏิบัติตามคำสอนเพื่อบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ดังพระบาลีว่า …. สลฺลหุ วุตฺติโน ปน ปนฺตเสนาสนา ภิรตสฺส อตฺตภาเว ขยวยํ ปฏฺฐเปตฺวา สาตจฺจกริยาวเสน วิปสฺสนํ วฑฺเฒตฺวา อรหตฺตํคหณนฺติ อิทํ วิปสฺสนาธุรํ นาม แปลความว่า การที่ภิกษุประพฤติปอนๆ ยินดีในเสนาสนะอันสงัด ตั้งใจปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมีความเพียรติดต่อกันไปไม่ขาดสาย ได้เห็นความเกิดดับของรูป นาม ตลอดจนได้บรรลุพระอรหันต์ อย่างนี้เรียกว่าวิปัสสนาธุระ

ต้องปฏิบัติธรรมจึงรู้รสพระธรรม
ธรรมทุกข้อที่พุทธศาสนากล่าวไว้ ต้องลงมือประพฤติปฏิบัติตามจึงจะได้รับผล การเรียนรู้แต่ส่วนเดียวยังไม่ลงมือปฏิบัติย่อมไม่ได้รับผลตามความมุ่งหมายไว้ ไม่สามารถจะรู้ถึงคุณค่าแห่งรสพระธรรมนั้นเป็นอย่างไร แม้จะเคยได้ยินได้ฟังมาว่า รสพระธรรมนั้นเป็นเลิศชนะรสทั้งปวง ตามหนังสือที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา เรียกว่ารู้โดยได้ยินได้ฟัง โดยการคาดคะเนเอาว่า คงจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เปรียบได้กับคนที่ปรุงอาหารสามารถรู้ส่วนผสมของอาหารว่ามีอะไร ทำอย่างไร แต่ยังไม่ได้ลงมือรับประทานด้วยตนเอง ย่อมจะไม่สามารถรู้รสชาติว่าเป็นอย่างไร ความอิ่มใจเป็นอย่างไร ต่อเมื่อได้ตัดสินใจลงมือรับประทานเอง จึงรู้รสและอิ่มท้อง ดังท่านกล่าวกันว่า กินเองจึงอิ่ม รสพระธรรมก็เช่นเดียวกัน บุคคลจึงควรได้ดื่มรสพระธรรมด้วยการลงมือปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อความอิ่มและความสุข ตามแนวทางของพุทธศาสนา

การปฏิบัติธรรมเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าที่สูงสุด
พระพุทธองค์ ทรงยกย่องการปฏิบัตธรรมว่าเป็นการบูชาพระองค์โดยแท้และสูงสุดกว่าการบูชาด้วยสิ่งอื่นใด การบูชาพระองค์ด้วยดอกไม้ของหอมต่างๆ ก็ดี จัดเป็นอามิสบูชา แม้การศึกษาเล่าเรียนพระพุทธพจน์จนจบพระไตรปิฎกสอนคนอื่นได้แต่ตนเองไม่ลงมือปฏิบัติ พระพุทธองค์ทรงเรียกบุคคลประเภทนี้ว่าคัมภีร์เปล่า จะเห็นได้จากเรื่องภิกษุสองหายในธรรมบทภาคหนึ่งกล่าวไว้ว่า…..

มีภิกษุสองสหาย องค์หนึ่งบวชเมื่อแก่ จึงเรียนวิปัสสนาธุระ ตั้งใจปฏิบัตธรรมจนได้บรรลุมรรคผล ตามความปรารถนา มีลูกศิษย์มากมายโดยสอนการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์วิปัสสนา

ส่วนองค์ที่หนุ่มกว่า ตั้งใจเรียนคันถธุระ คือเรียนปริยัติธรรมจนจบพระไตรปิฎก แตกฉาน สามารถสอนปริยัติธรรมแก่ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป เป็นอาจารย์ใหญ่สอนถึง ๑๘ คณะ ชื่อว่าเป็นอาจารย์ทางปริยัติธรรม ต่อมาเมื่อทราบว่าสหายที่บวชแล้วเข้าไปอยู่ในป่าปฏิบัติวิปัสสนา ไม่มีความรู้ ไม่ได้เรียนปริยัติมา เหตุใดจึงมีศิษย์มากมายอย่างนี้ ถ้าพบกันจะต้องสอบถามดู อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์ทั้งสองก็ได้พบกัน

พระพุทธองค์ตรัสถามปัญหา
พระพุทธองค์ได้ทรงทราบ จึงเสด็จไปสู่ที่ซึ่งอาจารย์ทั้งสองนั่งอยู่ แล้วทรงตรัสถามปัญหาในปฐมฌานแก่ภิกษุผู้เป็นอาจารย์สอนปริยัติ เธอตอบไม่ได้ ตรัสถามในรูปสมาบัติและอรูปสมาบัติทั้ง ๘ ตั้งแต่ทุติยฌานเป็นต้นไป ก็ตอบไม่ได้แม้แต่ข้อเดียว ส่วนอาจารย์สอนวิปัสสนาตอบได้หมดทุกข้อ พระองค์ทรงตรัสถามปัญหาโสดาปัติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหันตมรรค ตามลำดับ อาจารย์สอนปริยัติตอบไม่ได้แม้แต่ข้อเดียว แต่อาจารย์สอนวิปัสสนาตอบได้หมดทุกข้อ สมเด็จพระบรมศาสดาได้ประทานสาธุการแก่ท่านถึง ๔ ครั้ง แล้วตรัสว่า “หากนรชนใด กล่าวพุทธพจน์อันมีประโยชน์เกื้อกูลแม้มาก แต่เป็นผู้ประมาทไม่ทำตามพุทธพจน์นั้น เหมือนคนเลี้ยงโคแต่ไม่ได้ดื่มนมโค ไม่รู้รสนมโค”

“ส่วนนรชนผู้กล่าวพระพุทธพจน์ อันมีประโยชน์เกื้อกูลแม้น้อย แต่เป็นผู้มีปกติประพฤติธรรม สมควรแก่ธรรม คือเจริญสมถและวิปัสสนา เพื่อลดราคะ โทสะ โมหะ รู้ชอบ มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว หมดความยึดมั่นถือมั่น ในโลกนี้หรือโลกหน้า เหมือนผู้ได้ดื่มรสแห่งนมโคฉะนั้นได้”

ตามที่ได้กล่าวอ้างมานี้ เพื่อที่จะเป็นที่เข้าใจแก่ท่านผู้ฟังว่า วิปัสสนากรรมฐาน นั้นคือ การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา

วิปัสสนามาจากไหน ใครเป็นผู้ริเริ่ม
ตามเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น ก็ปรากฏยืนยันแล้วว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ริเริ่ม เป็นผู้ให้กำเนิดวิปัสสนา จะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่พระองค์ได้ตรัสรู้ธรรมแล้วเริ่มประกาศเผยแพร่ธรรม ในเบื้องต้นพระองค์ได้ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้แก่มัชฌิมาปฏิปทา คือทางปฏิบัติสายกลาง ได้แก่มรรคมีองค์ ๘ ย่อให้สั้นได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ได้ปรมัตถ์ คือรูปกับนามเป็นอารมณ์ การกำหนดรูป-นาม พร้อมด้วยองค์ ๓ คือ ๑. อาตาปี มีความเพียร ๒. สติมา มีสติอยู่กับรูปนาม ๓. สัมปชาโน มีสัมปชัญญะ คือรู้อยู่ทุกขณะ ชื่อว่าได้ปัจจุบันธรรม เห็นรูปธรรม เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นพระไตรลักษณ์ แล้วจึงได้บรรลุมรรคผล รู้แจ้งแทงตลอด อริยสัจจธรรมทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ในอนัตตลักขณะสูตร ทรงแสดงอารมณ์ของวิปัสสนา ได้แก่รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

จึงจะเห็นได้ว่า พระพุทธองค์สอนวิปัสสนามาแต่เริ่มแรกประกาศพระศาสนา และตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ที่ใช้เวลาเผยแพร่ทั้งหมด ๔๕ ปี แม้พระสาวกทั้งหลาย มีพระอัญญาโกณฑัญญะ และพระสารีบุตร เป็นต้น ก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ตั้งแต่สมัยพุทธกาลและสืบต่อมาจนทุกวันก็ยังมีอยู่ หากแต่ผู้ปฏิบัติไม่อาจสามารถจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้เหมือนสมัยก่อน เพราะเหตุว่าคงจะมีอะไรขาดตกบกพร่องอยู่บ้าง แต่ผลการปฏิบัติในชั้นต่ำ ชั้นกลางคือทำให้ใจสงบ และลดกิเลสลงได้บ้าง แม้ไม่ถึงนิพพานชั้นสูงก็ยังดี

วิปัสสนากรรมฐานสูงเกินไปหรือไม่ เหมาะสมกับใคร
วิปัสสนากรรมฐาน ไม่เป็นธรรมที่สูงเกินไปที่ทุกคนจะลงมือปฏิบัติ แม้แต่เด็กอายุ ๗ ปีก็สามารถปฏิบัติได้ ตัวอย่างเช่น นางวิสาขามหาอุบาสิกาสำเร็จพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ปี ใครก็ตามที่หวังสันติสุขแก่ตนเองต้องการพ้นจากทุกข์ และต้องการให้กิเลสอันได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ เบาบางลง หรือหมดไป ต้องการความสงบสุขความบริสุทธิ์แห่งจิตใจ ทุกเพศทุกวัย ทุกชาติ ทุกภาษา ปฏิบัติได้ทั้งนั้นไม่ผูกขาด แม้ชาวต่างประเทศก็หันมาสนใจ เข้ามาบวชในพุทธศาสนา และเข้ามาปฏิบัติ มีหลายเชื้อชาติหลายภาษา สำคัญอยู่ที่มีศรัทธามีปัญญาที่จะปฏิบัติหรือไม่เท่านั้น ถ้าบุคคลใดเกิดศรัทธา คือความเชื่อมั่นแล้ว ลงมือปฏิบัติ ผลก็จะตามมาถ้าปฏิบัติมากก็ได้ผลมาก ปฏิบัติน้อยก็ได้ผลน้อย ตามวาสนาบารมีของแต่ละบุคคล

อีกประการหนึ่ง การปฏิบัติก็เป็นหน้าที่ของพุทธบริษัท ๔ มีภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ควรสนใจน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติ จึงจะได้ชื่อว่ารักษาอมตมรดกทางศาสนาไว้อย่างบริบูรณ์

การปฏิบัติวิปัสสนา ขัดข้องในการประกอบอาชีพหรือไม่
การปฏิบัติไม่เป็นการขัดกับอาชีพการงานประเภทใดๆ แต่กลับจะเป็นการส่งเสริมอาชีพการงานให้ดีขึ้น เพราะผู้ปฏิบัติจะมีสติสัมปชัญญะรู้จักการยับยั้งและควบคุมให้ดำเนินไปอย่างรอบคอบ ระมัดระวังไม่ประมาทเห็นเหตุการณ์ไกล แม้มีอุปสรรคเกิดขึ้นก็สามารถควบคุมสติ และคิดแก้ไขผ่อนหนักให้เป็นเบาลงได้ จะมีความเยือกเย็นอดทนต่อเหตุการณ์ได้เป็นอย่างดี การประกอบอาชีพการงานทุกประเภทต้องอาศัยความเป็นผู้มีสติไม่หวั่นไหว มีความอดทน มีอารมณ์เยือกเย็น จึงจะทำให้การติดต่อกับบุคคลภายนอกได้ดี การอยู่รวมกันในหมู่คณะเป็นปกติสุข เป็นไปเพื่อความเจริญก้าวหน้า และอีกประการหนึ่งผู้ปฏิบัติจะเป็นผู้รู้จักเลือกประกอบอาชีพการงาน อันปราศจากโทสะ จะเป็นผู้มีสัมมาอาชีวะ คือการเลี้ยงชีพ โดยชอบธรรม

การใช้เวลาในการปฏิบัติวิปัสสนา
ในเรื่องการใช้เวลาในการปฏิบัตินั้น อยู่ที่ผู้ปฏิบัติจะเห็นว่าตนเองมีโอกาสมากน้อยเพียงไร การปฏิบัติมี ๒ ประเภท ท่านที่มีโอกาสดีมีเวลามากจะเข้าปฏิบัติในสำนักใดสำนักหนึ่งก็ตาม อาจเป็นเวลา ๑ เดือน ๑๕ วัน ๗ วัน ตามแต่จะทำได้ ถ้าไม่มีเวลาไปอยู่วัดจะรับไปปฏิบัติที่บ้านก็ได้ เมื่อมีเวลาว่างจากกิจประจำวันตามแต่สามารถจะทำได้ วันละ ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที ๑๕ นาที ก็ไม่เสียหาย โบราณท่านกล่าวไว้ว่า ใครปฏิบัติชั่วช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น ไก่ปรบปีกก็เป็นมหากุศล ขอแต่เพียงว่าเมื่อตัดสินใจลงมือปฏิบัติ ให้ตั้งใจปฏิบัติจริงๆ อย่าทอดทิ้งและเบื่อหน่าย ไม่ปล่อยใจไปตามอำนาจกิเลสชักจูง ล้มเลิกความตั้งใจ เลิกปฏิบัติเสียกลางคัน ก่อนที่จะถึงที่สุดหรือเต็มความสามารถ ควรที่จะพอปฎิบัติได้ ก่อนที่จะได้รับผลทำให้มีความเข้าใจว่าปฏิบัติแล้วไม่มีอะไรไม่ได้อะไร ผลอยู่ที่การปฏิบัติ ใครปฏิบัติมากผลก็ตาม คือได้รับความสงบใจ สุขกายสบายใจ บางคนหายจากโรคภัยไข้เจ็บที่เคยเป็นอยู่ประจำก็มีปรากฏ แต่ก็เป็นผลพลอยได้เท่านั้น การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมุ่งทำให้เกิดความบริสุทธิ์ผ่องแผ้วในด้านจิตใจเป็นเรื่องใหญ่ เราจึงควรปลีกเวลาเพียงส่วนน้อย เพื่อรักษาจิตใจให้ดีขึ้น ให้บริสุทธิ์ขึ้น ไม่ควรคิดว่ายังไม่ว่าง ท่านกล่าวว่าถ้าไม่วางก็ไม่ว่าง ฉะนั้น ปัญหาเรื่องโอกาสและเวลาจึงอยู่ที่ท่านเอง

ผู้ปฏิบัติธรรมเห็นแก่ตัวหรือไม่
ขอให้ย้อนระลึกไปถึงสมัยที่พระพุทธองค์ ซึ่งเป็นต้นศาสนา พระองค์เป็นตัวอย่างอันดี และมองเห็นได้ถึงการเสียสละความสุขส่วนน้อยเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ พระองค์สละราชสมบัติ แก้วแหวนเงินทอง พระประยูรญาติ ความสุขทางโลก เพื่อแลกกับวิมุตติธรรมอันนำมาซึ่งความสุขสงบแต่ส่วนเดียว แล้วนำมาเผยแพร่แก่ชาวโลกให้ได้รับความสันติสุขวิมุตติสุขมาจนถึงทุกวันนี้ จะเรียกว่าเป็นการเห็นแก่ตัวได้อย่างไร บุคคลที่เห็นการณ์ไกลจะไม่มีความเห็นว่า ผู้ปฏิบัติธรรมนั้นเอาตัวรอดเป็นคนที่เห็นแก่ตัว เพราะเหตุว่าผู้ปฏิบัติทุกท่านเมื่อเกิดศรัทธาจะลงมือปฏิบัติธรรมแล้วจะต้องเสียสละความสุขสบายทุกด้าน ไม่ว่าการกินอยู่ หลับนอน ต้องอยู่ในขอบเขต ได้แก่การรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ให้บริสุทธิ์อยู่ในที่จำกัด มีการยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ในอาการสำรวมทุกขณะ เพื่อให้เกิดสมาธิ มีเวลาพิจารณาตัวเอง ให้เห็นทุกข์เพื่อรู้แจ้ง เห็นอริยสัจจธรรมด้วยตนเอง เรียกว่า อ่านตัวออก บอกตัวได้ ใช้ตัวเป็น การอบรมตัวเองให้ดีเสียก่อนสร้างฐานะจิตใจของเราให้ดีก่อน เมื่อยอมสละแต่เพียงส่วนน้อยเพื่อผล คือสุขกายสบายตนเอง แล้วจึงจะสามารถช่วยเหลือบุคคลอื่นได้ภายหลัง คนเราก็ต้องช่วยตัวเอง พึ่งตัวเองก่อน ดังสุภาษิตว่า ตนของตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่ใช่เห็นแก่ตัวหรือเอาตัวรอด

ประโยชน์ของการปฏิบัติวิปัสสนา
เมื่อผู้ปฏิบัติ อบรมจิตใจตนเองได้ดีแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นผู้มีศรัทธายิ่งขึ้น มีศีลบริสุทธิ์คือไม่กล้าละเมิดศีล ทำบุญทำกุศลมากขึ้น เลิกประพฤติความชั่วที่เคยทำมา เช่น บางท่านเลิกเล่นการพนัน เลิกดื่มสุรา เลิกเที่ยวเตร่ หาสาระไม่ได้ ที่เบาหน่อยก็เลิกสูบบุหรี่ เลิกกินหมาก บางท่านก็สนใจในการศึกษาหาความรู้ในพุทธศาสนายิ่งขึ้น ถ้าเป็นเด็กจะมีสมาธิดีขึ้น ทำให้เรียนหนังสือดีขึ้น และมีความประพฤติดีขึ้น

ในด้านกำลังใจ ผู้ปฏิบัติส่วนมากจะมีความอดทนหนักแน่น เยือกเย็นดี มีความเมตตา เผื่อแผ่ มีใจโอบอ้อมอารี ไม่อิจฉาริษยามีความระมัดระวัง ไม่ปล่อยให้กิเลสแสดงออกมาง่ายๆ เหล่านี้เป็นความดีเป็นผลของการปฏิบัติทั้งสิ้น รวมความว่าการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เป็นการปฏิวัติคนไม่ดีให้เป็นคนดี คนดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น เมื่อบุคคลมีความดีอยู่ในตัว จะอยู่ที่ไหน อยู่ร่วมกับใคร หมู่คณะใด ครอบครัวใด ก็มีคุณประโยชน์ ไม่มีโทษไม่มีภัยต่อใครๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ปฏิบัติย่อมได้ชื่อว่าช่วยตัวเองและช่วยบุคคลอื่นได้ เพราะความเป็นนักเสียสละได้มากนั่นเอง

ในด้านความสามารถทางการงานก็เช่นเดียวกัน บุคคลที่อบรมจิตดีแล้ว ควรแก่การงานทุกประเภท ท่านกล่าวไว้ว่า จิตที่ตั้งไว้ดีแล้วจะพูดก็ดี จะทำก็ดี ต้องดีไปด้วย เพราะคนเรามีจิตเป็นนาย มีกายเป็นบ่าว มีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นประธาน เมื่อสามารถอบรมจิตให้ตั้งตัวไว้ดีแล้ว การงานการอาชีพ ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร

ผู้ปฏิบัติธรรมคร่ำครึในสังคมปัจจุบันหรือไม่
ตามที่กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้น ถึงความดีอันเป็นผลของการปฏิบัติและก็อาศัยคุณความดีดังกล่าวมาแล้ว จึงปรากฏว่าตามปกติ บุคคลผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ ไม่มีเวรภัยต่อผู้ใด ไม่มีความริษยาอาฆาตจองเวรใคร ย่อมจะไม่เกิดความสะดุ้งหวาดกลัว หรือเกิดความเก้อเขินในกลุ่มชนชั้นใด ในสถานที่ใดๆ บุคคลผู้ได้รับการฝึกอบรมมาดีแล้วจะมีการสำรวมในการแสดงออก มีความเรียบร้อย สงบเยือกเย็น แจ่มใส อยู่เป็นปกติ เพราะเหตุว่าผู้ปฏิบัตินั้นมีปัญญาสามารถและนำเอาสัปปุริสธรรมทั้ง ๗ ประการ คือความเป็นผู้รู้เหตุ รู้ผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักบุคคล รู้จักประชุมชน อันเป็นเครื่องประกันของคนดี ผู้ปฏิบัติจะไม่เป็นคนล้าสมัย เป็นคนคร่ำครึ หัวโบราณ แต่จะเป็นผู้วางตัวได้เหมาะสมในสังคม หรือชุมชนผู้มีอารยธรรม “ผู้ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข”

บางท่านอาจเห็นว่า การเต้นรำ เที่ยวกลางคืน นั่งตามบาร์ไนท์คลับ ฟังเพลง จำชื่อดารานักร้องได้หมด ดาราภาพยนตร์รู้จักหมด จำชื่อเครื่องสำอางได้หมดทุกยี่ห้อ ทุกบริษัท เป็นการทำให้เป็นคนทันสมัย แต่ผู้ปฏิบัติธรรมอาจจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มีสาระประโยชน์น้อย แต่มีโทษมาก แม้มีความจำเป็นต้องเป็นไปตามสังคม ก็ยังมีความรู้สึกยับยั้ง ไม่เคลิบเคลิ้มหลงใหลไปตาม คนล้าสมัย คนคร่ำครึ หัวโบราณก็อาจจะยังมี แต่คงจะไม่เป็นเพราะเหตุมาจากการปฏิบัติธรรมเป็นปัจจัยอย่างแน่นอน

สรุป
ขอฝากความปรารถนาดี อันมีต่อบรรดาท่านผู้เป็นพุทธศาสนิกชน นับเป็นญาติในพระศาสนา เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทุกท่าน ไม่มีใครแตกต่างกันไปได้ การดำเนินชีวิตในปัจจุบันนี้จะมองไปทางไหน ในตัวเราก็ดี รอบๆ ตัวเราก็ดี ก็มักจะพบกับความไม่สงบ ความเดือดร้อน ความวิตกกังวลใจ ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ สิ่งหล่านี้มีอยู่ประจำทุกมื้อทุกวัน เรื่องหนึ่งหมดไปเรื่องใหม่เกิดขึ้น บางทีเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน จิตใจของเราถูกรบกวน จนไม่สามารถจะเป็นสุขสงบได้ มักหวั่นไหวไปตามอารมณ์ ทำอย่างไรเราจึงจะพบความสงบสุขได้

มีทางเดียวที่พระบรมศาสดาได้ทรงวางไว้ในพุทธศาสนา ผู้นำทางก็มีอยู่ การที่จะทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วนั้นได้แก่ดำเนินตามมหาสติปัฏฐาน ๔ หรือการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ในเมื่อเราปรารถนาความสงบในด้านจิตใจ ปรารถนาความบริสุทธิ์ ความพ้นทุกข์ ความเป็นอิสระ ไม่อยู่ในอำนาจกิเลส ก็ควรรีบปฏิบัติวิปัสสนาเสีย เพื่อบรรลุ มรรค ผล นิพพานอันเป็นยอดแห่งความสงบสุข โดยไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารอีกต่อไป

ทั้งหมดตามที่บรรยายมาแต่ต้น ก็เป็นเพียงคำบอกเล่าตามความรู้สึกความเข้าใจที่ได้เรียนและปฏิบัติมา นับว่าเป็นเพียงบทเรียนในภาคทฤษฎีเท่านั้น ยังไม่สามารถจะทำความแจ่มแจ้งชัดเจนให้แก่ท่านผู้อ่านได้ ถ้าหากท่านสนใจต้องการพิสูจน์ให้รู้แจ้งเห็นจริงด้วยตัวเอง ขอเชิญท่านไปที่สำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดพระนารายณ์มหาราช นครราชสีมา ท่านจะได้พบอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ สามารถแนะนำชี้แจงให้ท่านมีความเข้าใจได้เป็นอย่างดี

ธมฺมจารี สุขํ เสติ
ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข